วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

บทที่ 3
กำเนิด พัฒนาการ
และการแบ่งยุคสมัยของแนวคิดทางปรัชญา


1. กำเนิดและพัฒนาการแนวคิดทางปรัชญาในช่วงแรกของ (ก่อน) ประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

1.1 มนุษย์กับปัญหาเชิงอภิปรัชญากับปรัชญาแนววิญญาณนิยม
1.1.1 มนุษย์มีประสบการณ์กับสิ่งที่มีอยู่ (Being) ภายนอก/ภายในตัวมนุษย์เอง (สิ่งต่างๆ ตามปรากฎการณ์ธรรมชาติ) มนุษย์เผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมรอบตัว (สมัคร บุราวาศ, 2544) มนุษย์สงสัย ตั้งคำถามว่า “สิ่งนั้น สิ่งนี้ที่อยู่รอบตัว มันคืออะไร?” หลายๆ สิ่งมนุษย์รู้สึกว่าเป็นความลึกลับ บ้างก็เป็นรหัสธรรม และมีความรู้สึกมืดแปดด้าน ปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ มีลักษณะดังนี้

ก. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ ที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้านั้น มีทั้งส่วนที่ทำให้มนุษย์ได้รับผลดีและผลร้าย
ข. มนุษย์ควบคุมสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ มีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายๆ อย่าง ที่มนุษย์พบว่ายิ่งใหญ่กว่าตนเอง
ค. มนุษย์เกิดภาวะความกลัว กังวลใจ ไม่มีความสุข

1.1.2 มนุษย์พยายามคิด (ใช้สติปัญญา) หา คำตอบ เท่าที่จะหาได้และในช่วงแรก ๆ มนุษย์มีแนวโน้มที่คิดว่าโลกและสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ตายตัว แต่มีความเป็นไปได้ว่า (Gaarder, n.y.)

ก. ปรากฏการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นตามที่เทพเจ้า/สิ่งเหนือธรรมชาติบัญชา ตามความพอใจของเทพเจ้า/สิ่งเหนือธรรมชาติ (เช่น ในดินแดนกรีกโบราณ มีตำนานเกี่ยวกับเทพซุส)

ข. ถ้ามนุษย์อยากอยู่อย่างสงบ ไม่ต้องเดือดร้อนจากปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ส่งผลร้าย/ภัยต่อตัวมนุษย์ๆ จึงต้องหาวิธีเอาใจเทพเจ้า/สิ่งเหนือธรรมชาติ จึงปรากฎร่องรอยของการบูชายัญ/ การถวายบูชา/พิธีกรรม ฯลฯ มีวิวัฒนาการเรื่องการเอาใจเทพเจ้าอย่างต่อเนื่อง
1) ผลที่ตามมา คือ มนุษย์ได้ผ่อนคลาย มีคำตอบ พอหาวิธีการอยู่อย่างสงบ (ใจ) ได้บ้าง
2) คำตอบดังกล่าว ได้รับการยอมรับมาเป็นเวลายาวนาน
3) ข้อสังเกต คือ น่ายกย่องมนุษย์คน/กลุ่มแรก ที่คิดและหาคำตอบให้ มนุษย์คน/กลุ่มแรก ที่คิด/ให้คำตอบดังกล่าวควรได้รับการยกย่องอย่างสูง เพราะถ้าไม่มีคำตอบดังกล่าว มนุษย์โบราณคงจะมีความเครียดสูง เนื่องจากมีแต่ปัญหา/สงสัย แต่ไม่มีคำตอบที่ทำให้สบายใจ

1.1.3 ต่อมา มีวิวัฒนาการ/การจัดระบบการอธิบาย รวมถึงพัฒนาการเรื่อง วิธีการที่จะเอาใจเทพเจ้า มีลักษณะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ มีบุคคลเฉพาะ ผู้รู้ ปราชญ์ คุรุ ที่อธิบายและถ่ายทอดเรื่องราวให้กับมนุษย์ในสังคมรุ่นต่อๆ มา มีการบันทึกเป็นเรื่องราวและเชื่อว่าได้รับมาจากเทพเจ้า

1.1.4 เราเรียกแนวคิดในช่วงแรกนี้ได้ว่า “วิญญาณนิยม” (Animism) หรือ “ยุคปัญญาเชิงศาสนา” (สมัคร บุราวาศ, 2544)

1.2 ข้อสังเกต
1.2.1 มีพัฒนาการทางความคิด/นำสู่การมีความเชื่อพื้นฐานสองด้าน คือ
ก. ด้านเชิงสร้างสรรค์ นำสู่การมีความเชื่อแบบเน้นปัญญา และ
ความเข้าใจต่อคำตอบที่ได้ (พัฒนาสู่การเป็นศาสนา)
ข. ด้านเชิงงมงาย นำสู่การมีความเชื่อแบบตาบอด (ไสยศาสตร์)

ด้านเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาสู่การเป็น “ศาสนา” “ปรัชญา” และ “เทววิทยา” และวิทยาการต่างๆ ด้านเชิงงมงาย จะค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา (มีอย่างอื่นมาแทนที่อยู่เรื่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบตามกระแสค่านิยม)

1.2.2 กำเนิดความคิดดังกล่าวข้างต้น มีลักษณะคล้ายกันด้านเนื้อหาสาระ (ปัญหาเชิงอภิปรัชญา) ทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก แต่มี “รายละเอียด” อาจต่างกัน (เช่น ชื่อเรียก พิธีกรรม เป็นต้น)

แหล่งกำเนิดของความคิดทางปรัชญา แบ่งออกได้เป็นสองแหล่งใหญ่ คือ ปรัชญาตะวันตกและ ปรัชญาตะวันออก ปรัชญาสองสายนี้ได้ไหลผ่านกาลเวลาแห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติเป็นเวลาหลายพันปี มีผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์มาทุกยุคสมัย จากอดีต ปัจจุบันและอนาคต ตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงดำรงอยู่ในโลก ทั้งปรัชญาตะวันตกและตะวันออกต่างมุ่งศึกษาในประเด็นที่สังคมในยุคต่าง ๆ ให้ความสนใจความจริงเกี่ยวกับโลกและชีวิต (สุนทร ณ รังษี, 2521: 2) เป็นการเปิดตัวเองของมนุษย์เพื่อศึกษาโลกทรรศน์เกี่ยวกับภาวะที่มีอยู่ (Being) ตามบริบทของสังคมตามหลักเหตุ-ผล

2. พัฒนาการและภาพรวมของปรัชญาตะวันออก
ปรัชญาตะวันออก หมายถึง แนวคิดเชิงปรัชญาในดินแดนเอเชีย ซึ่งในอดีต อารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองตั้งแต่โบราณแบ่งกว้าง ๆ ได้สองแนว คือ ปรัชญาอินเดีย และ ปรัชญาจีน (หรือเรียกว่าปรัชญาแห่งแม่น้ำสินธุ/คงคา กับปรัชญาแห่งแม่น้ำฮวงโห/แยงซีเกียง)
สองอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ตั้งแต่อดีตในซีกโลกตะวันออก (ทวีปเอเชีย) ได้แก่ อินเดียและจีน ถือเป็นแหล่งกำเนิดของภูมิปัญญาตะวันออก (ปรัชญาตะวันออก) นักปรัชญาตะวันออกสนใจความเป็นจริงเช่นเดียวกับนักปรัชญาตะวันตก แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของปรัชญาตะวันออก คือ ความสนใจต่อความเป็นจริงเพื่อการปฏิบัติตนมุ่งสู่การเป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นจริง นี่เองที่ผู้ศึกษาปรัชญาจึงมีความคิดว่าปรัชญาตะวันออก (โดยเฉพาะปรัชญาอินเดีย) เป็นปรัชญาชีวิต เพราะแนวคิดทางปรัชญาที่ค้นคิดขึ้นได้นั้น มีการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยลักษณะดังกล่าวนี้ “ปรัชญากับศาสนาของอินเดียจึงมักไปด้วยกันเสมอ” (สุนทร ณ รังษี, 2521: 2)

2.1 ปรัชญาอินเดีย
2.1.1 บริบทและพื้นฐานของปรัชญาอินเดีย
ชนเผ่าอารยัน (Aryan) เข้มแข็ง ฉลาด ได้เข้ามายึดครองดินแดนชมพูทวีปที่กว้างใหญ่และมีชนพื้นเมืองหลายเผ่าพันธุ์ เมื่อชนเผ่าอารยันเข้ามายึดครอง และมีการสร้างอารยธรรม โดยน่าจะมี/ใช้คัมภีร์ เรื่องเล่า/บันทึกประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ/ความเป็นจริงสูงสุด ซึ่งมีชื่อ “คัมภีร์พระเวท” มาเป็นต้นแบบและการจัดระบบการดำเนินชีวิตในสังคม คัมภีร์พระเวทในระยะแรกยังคงมีลักษณะเป็นวิญญาณนิยม (คัมภีร์พระเวทมีลักษณะเป็นตู้หนังสือ เหมือนพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์/ไบเบิ้ล) มีบันทึกว่ามีเทพเจ้ามากมาย แต่มีพูดถึงเทพสำคัญๆ สามองค์ (สมัคร บุราวาศ, 2544) ได้แก่ พระอินทร์ พระอัคนีและพระวรุณ (ต่อมาพัฒนาการเป็น “ตรีมูรติ/Trimurti” คือ พระพรหม พระวิษณุ และศิวะ ในศาสนาฮินดู)

ปรัชญาอินเดียทุกระบบ ล้วนได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พระเวททั้งสิ้น หลังยุคพระเวทเราอาจแบ่งระบบปรัชญากว้าง ๆ ได้สองแนวคือ

ก. แนวนาสติกะ (Heterodox) คือ แนวคิดที่มีลักษณะที่สอนตรงข้ามกับสิ่งที่พระเวทสอน มีสามแนวคิดสำคัญคือ จารวาก (Carvaka) ปรัชญาเชน (Jainism) และพุทธปรัชญา (Buddhism) ซึ่งถือว่าได้รับอิทธิพลจากพระเวทโดยอ้อม เพราะได้สร้างปรัชญาขึ้นมาขัดแย้งกับพระเวท

ข. แนวอาสติกะ (Orthodox) คือ แนวคิดที่ดำเนินตามและอธิบายเพิ่มเติมในสิ่งที่พระเวทสอน เชื่อเรื่องพระเจ้าหรือเชื่อเรื่องความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท ประกอบด้วยแนวปรัชญา 6 สำนัก ซึ่งถือว่าได้รับอิทธิพลจากพระเวทโดยตรง (สางขยะ /Sankhya เวทานตะ /Vedanta โยคะ /Yoga มีมางสา /Mimamsa) นยายะ /Nyaya ไวเศษิกะ /Vaiseshika)

มีการแบ่งปรัชญาอินเดียออกเป็นสองยุค คือ ปรัชญาอินเดียโบราณ (ขยายความหรือต่อต้านพระเวท) กับปรัชญาอินเดียร่วมสมัย (การผสานกับวัฒนธรรมตะวันตก)

2.1.2 ลักษณะโดยรวมของปรัชญาอินเดีย (ปรัชญาอินเดียโบราณ)
ปรัชญาอินเดีย มีลักษณะทั้งทฤษฏี (อภิปรัชญา ญาณวิทยา) และภาคปฏิบัติ (จริยศาสตร์) ซึ่งควบคู่ไปด้วยกัน โดยมีพื้นฐานจากศาสนา (ยกเว้นลัทธิจารวาก) ปรัชญาอินเดียจึงมีลักษณะขยายความคำสอนของศาสนา โดยให้หลักเหตุผลเป็นเครื่องมือ จึงมีลักษณะเป็นปรัชญาศาสนา ในแบบปรัชญาชีวิต เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจ จึงขอยกแนวคิดของ ศ. สุนทร ณ รังสี (2521) ที่เสนอลักษณะเด่นของปรัชญาอินเดีย (ไม่รวมจารวาก ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดพิเศษของปรัชญาอินเดีย) ดังนี้

ก. ปรัชญาอินเดียมีลักษณะเป็นปรัชญาชีวิต
เน้นความคิดในแบบที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ จึงไม่ใช่รู้เพื่อรู้ แต่รู้เพื่อเอาไปใช้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต

ข. ปรัชญาอินเดียมองชีวิตว่าเป็นทุกข์ แต่มีวิถีดับทุกข์
กล่าวคือ มองชีวิตว่ามีแต่ทุกข์ จึงพยายามนำเสนอวิถีดับทุกข์ มองว่าทุกข์นี้มีวิธีแก้ไขหรือพ้นทุกข์ได้ (ชีวิตเต็มด้วยทุกข์ แต่เราสามารถหลุดพ้นทุกข์ได้)

ค. ปรัชญาอินเดียเชื่อในกฎแห่งกรรม
ถือเป็นกฎสากลหรือกฎแห่งเหตุและผล ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โดยต่างกันบ้างในเรื่องเกี่ยวกับการกระทำว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี

ง. ปรัชญาอินเดียสอนว่า “อวิชชา” หรือการรู้ผิด หลงผิด เป็นบ่อเกิดแห่งปัญหาชีวิต
ปรัชญาอินเดียจึงเสนอวิถีมุ่งสู่การบรรลุโมกษะหรือการหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง อันถือเป็นเป้าหมายชีวิต (แต่กระนั้นความคิดเรื่องอวิชชา มีแตกต่างกันบ้าง เช่น อวิชชาของปรัชญาลัทธิหนึ่ง อาจเป็นวิชชาของอีกสำนักหนึ่ง เป็นต้น)

จ. ปรัชญาอินเดียเน้นการบำเพ็ญพรต อันเป็นวิถีสู่การหลุดพ้น
ปรัชญาอินเดียสอนว่าการบำเพ็ญสมาธิและวิปัสสนา โดยมองสิ่งต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง เป็นวิถีสู่การหลุดพ้นทุกข์ (โดยอาจต่างกันบ้างในแต่ละแนวคิด)

ฉ. ปรัชญาอินเดียสอนให้ควบคุมตนเอง
เห็นว่าการควบคุมตนเองหรือควบคุมจิตใจไม่ปล่อยตามกิเลสตัณหา เป็นวิถีแห่งขจัดกิเลส เพื่อบรรลุโมกษะ (ภาวะแห่งการหมดทุกข์อย่างสิ้นเชิง)

ช. ปรัชญาอินเดียมองว่ามนุษย์สามารถไปสู่การหลุดพ้นได้
การหลุดพ้นหรือการบรรลุถึงโมกษะ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ อาศัยการบำเพ็ญเพียร โดยแต่ละระบบมีแนวของตนเอง

2.1.3 ลักษณะของปรัชญาอินเดียร่วมสมัยเมื่อเปรียบเทียบกับกับปรัชญา
อินเดียโบราณ

ก. ความหมายของปรัชญาอินเดียร่วมสมัย
หลังสมัยสำนักปรัชญาต่าง ๆ แล้ว นักปรัชญาอินเดียก็ได้แต่จำของเก่า ไม่ได้คิดอะไรหรือ พัฒนาอะไรมากนัก จนกระทั่งนักปรัชญาอินเดียได้ติดต่อสัมพันธ์กับวัฒนธรรมตะวันตก (แนวปรัชญาตะวันตก) ทำให้นักปรัชญาอินเดียที่ได้ศึกษา ปรัชญาตะวันตก กลับมาทบทวนแนวคิดบรรพบุรุษของตน และปรารถนาที่จะรักษาอัตลักษณ์ของชาติตนไว้ จึงมีการพยายามศึกษาและเข้าใจปรัชญาอินเดียโบราณ ตามทรรศนะของปรัชญาตะวันตก และพยายามเสริม/ประยุกต์วิธีการทางปรัชญาตะวันตกให้เข้ากับ ปรัชญาอินเดียโบราณ โดยมี นักปรัชญาสำคัญ ๆ ได้แก่ มหาตมะ คานธี รพินทรนาถฐากูร เป็นต้น

ข. ลักษณะที่เหมือนและต่างกันของปรัชญาอินเดียโบราณ กับปรัชญา
อินเดียร่วมสมัย
1) ลักษณะที่เหมือนกัน

1.1) ปรัชญาอินเดียร่วมสมัย มีพื้นฐานจากปรัชญาอินเดียโบราณ และแบ่งกว้าง ๆ ได้สองแนวเหมือนปรัชญาอินเดียโบราณ

ลักษณะปรัชญาอินเดียร่วมสมัย (สมัยใหม่) เป็นการนำแนวคิดของปรัชญาอินเดียโบราณ มาผสานกับแนวคิดทางศาสนาและปรัชญาตะวันตก แนวคิดจึงออกมาเป็นลักษณะแบบสังเคราะห์และบูรณาการความคิดระหว่างปรัชญาอินเดียโบราณกับปรัชญาตะวันตก ดังนั้น จึงแบ่งกว้าง ๆ ได้สองแนวคือ แนวที่ยอมรับสัจจะในคัมภีร์เดิม (พระเวทและอุปนิษัท) แต่จัดรูปแบบเสียใหม่ กับพวกที่ปฏิเสธหลักการเดิมที่เห็นว่าไม่ใช่สัจจะ (พูดง่าย ๆ คือ ยอมรับคัมภีร์เดิมกับปฏิเสธคัมภีร์)

1.2) ทั้งปรัชญาอินเดียร่วมสมัยและปรัชญาอินเดียโบราณ มีลักษณะเป็นปรัชญาชีวิต

กล่าวคือ มุ่งเจาะประเด็น ตอบปัญหาเกี่ยวกับชีวิต และเป็นแนวคิดที่มุ่งสู่การปฏิบัติได้จริงในชีวิต แนวความคิดจึงเป็นทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ

2) ลักษณะที่ต่างกัน

2.1) ปรัชญาอินเดียร่วมสมัย ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาตะวันตก ทั้งด้านบวก (การนำวิธีการของปรัชญาตะวันตกมาใช้) และลบ (การปฏิเสธแนวทางของปรัชญาตะวันตก เพื่อยืนยันอัตลักษณ์ของปรัชญาอินเดียโบราณ) ในเชิงบูรณาการและสังเคราะห์ความคิด

กล่าวคือ ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยได้รับอิทธิพลจากปรัชญาตะวันตก ด้านบวกในความหมายของการนำแนวคิด/วิธีการใหม่ ๆ ของปรัชญาตะวันตกมาประยุกต์ใช้ ส่วนด้านลบเป็นเรื่องของการปฏิเสธหรือต่อต้านแนวคิดตะวันตกที่ขัดแย้งกับแนวคิดอินเดีย แนวคิดของปรัชญาอินเดียร่วมสมัยจึงเป็นแบบบูรณาการและสังเคาระห์ความคิด โดยผสานกับแนวคิดทางตะวันตก ในขณะที่ปรัชญาอินเดียโบราณมีลักษณะเป็นปรัชญาอินเดียบริสุทธิ์ ในความหมายที่ว่าไม่มีความคิดจากตะวันตกมาเกี่ยวข้องด้วย

2.2) ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยมีลักษณะสัจนิยมและจิตนิยม ในขณะที่ปรัชญาอินเดียโบราณมีแนวคิดแบบปฏิเสธโลกและพรตนิยม

ปรัชญาอินเดียร่วมสมัย ยอมรับโลกที่ปรากฏเป็นจริง (สัจนิยม) และยอมรับว่าโลกไม่ใช่แค่วัตถุ แต่ยังเป็นจิตด้วย (จิตนิยม) ในขณะที่ปรัชญาอินเดียโบราณ มีแนวคิดว่าโลกเป็นเพียงมายา (ไม่ใช่ของจริง – ปฏิเสธโลก) และพยายามบำเพ็ญตน (พรตนิยม) เพื่อมุ่งสู่ความหลุดพ้น (ออกจากโลก)

2.3) ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยมีทรรศนะแบบสากลนิยมและจิตนิยม

ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยมองสิ่งต่าง ๆ แบบสากล กล่าวคือ มองสิ่งต่าง ๆ ว่าดำเนินไปด้วยกัน (พัฒนาตนร่วมกับพัฒนาสรรพสิ่ง) นอกจากนี้ยังมีแนวคิดแบบจิตนิยม คือ เห็นว่าจิตเท่านั้นเป็นจริง สิ่งอื่นไม่มีจริง สิ่งต่าง ๆ มีลักษณะอันแท้จริงเป็นจิตอย่างเดียวกับอาตมันในมนุษย์ ซึ่งต่างจากปรัชญาอินเดียโบราณ ที่เน้นในลักษณะปัจเจก (มองเฉพาะสิ่งเฉพาะ) เห็นว่าทุกสิ่งไม่เกี่ยวข้องกัน ต่างคนต่างมีวิถีและศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้

2.4) ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยเน้นประนีประนอมระหว่างเทวนิยมกับสัมบูรณนิยม

แนวคิดปรัชญาอินเดียโบราณ มีทั้งแนวคิดแบบเทวนิยม (พระเจ้า/ความเป็นจริงสูงสุดทรงสร้างโลกและสรรพสิ่ง พระเจ้า (ความเป็นจริงสูงสุด) กับโลก/สรรพสิ่งจึงแตกต่างกัน) และแนวคิดแบบสัมบูรณนิยม (สอนว่าโลกกับพระเจ้า/ความเป็นจริงสูงสุดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ในภาวะแห่งการหมดสิ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง) ถือเป็นสองแนวที่ต่างกันสิ้นเชิง ในขณะที่ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยได้พยายามประสานความคิดของทั้งสองแนว โดยสอนให้ยอมรับพระเจ้า (ความเป็นจริงสูงสุด) ซึ่งเป็นทั้งไม่มีตัวตนและมีตัวตน พระเจ้า (ความเป็นจริงสูงสุด) เป็นทั้งอยู่ในโลกและมีลักษณะอยู่พ้นขอบเขตแห่งโลก

2.5) ความคิดเรื่องเอกนิยมในสสารกับจิต

ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยมีลักษณะเป็นเอกเทวนิยมและเอกนิยม ซึ่งสามารถขจัดความคิดแบบทวินิยม (จิตและสสารมีอยู่ และเป็นอิสระต่อกัน) โดยสอนว่าความจริงมีหนึ่งเดียว แต่มีความแตกต่างตามลำดับของพัฒนาการ จึงเป็นแนวคิดในแบบเอกภาพในความหลากหลาย ในขณะที่ปรัชญาอินเดียโบราณสอนว่าความจริงเป็นหนึ่งเดียว สิ่งอื่นเป็นเพียงมายา

2.6) ความคิดเรื่องอาตมันกับเทวภาพ
ปรัชญาอินเดียวร่วมสมัยสอนว่าอาตมัน (Atman, Self) มีลักษณะเป็นพลวัต (มีพัฒนาการ) อาตมันในปัจเจกบุคคลมุ่งพัฒนาตนไปสู่สภาวะแห่งเทวภาพ (พรหม) ได้ ในขณะที่ปรัชญาอินเดียโบราณคิดว่าอาตมันมีลักษณะตายตัว


2.7) ทฤษฏีวิวัฒนาการ
ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยมีแนวคิดแบบวิวัฒนาการ มองมนุษย์ในแบบมีวิวัฒนาการ ถือว่าวิวัฒนาการสูงสุดของโลกคือ อภิมนุษย์ ในขณะที่ปรัชญาอินเดียโบราณ ไม่ได้มีแนวคิดดังกล่าว

2.8) ความคิดเรื่องโมกษะ
ปรัชญาอินเดียโบราณมองว่าโมกษะคือ การหลุดพ้น สิ้นสุดการเกิดใหม่และเป็นนิรันดร์ ในขณะที่ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยคิดว่าโมกษะคือการเกิดใหม่ของวิญญาณหรืออาตมัน โมกษะจึงหมายถึงการเกิดใหม่ สู่อภิมนุษย์ อันถือเป็นพัฒนาการสูงสุดของจิต

2.9) ทรรศนะต่อศาสนา
ปรัชญาอินเดียโบราณมีบ่อเกิดจากศาสนา (นำความเชื่อมาอธิบาย) ปรัชญากับศาสนาจึงไปด้วยกันในแบบแนวคิดนั้น ศาสนานั้น (ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง) ในขณะที่ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยมองในแบบศาสนาสากล มองว่าทุกศาสนาเหมือนกัน แต่ต่างกันในรายละเอียด

2.10) แนวโน้มทางมนุษยนิยม
ปรัชญาอินเดียวร่วมสมัยเน้นมองคุณค่าชีวิตมนุษย์มากกว่าสิ่งเหนือธรรมชาติ เน้นปัญหาของมนุษย์ในโลก ในขณะที่ปรัชญาอินเดียโบราณเน้นความคิดที่มุ่งสู่สิ่งเหนือธรรมชาติ

2.1.4 สรุปปรัชญาอินเดีย
ปรัชญาอินเดีย จึงมีลักษณะทั้งทฤษฏี (อภิปรัชญา ญาณวิทยา) และภาคปฏิบัติ (จริยศาสตร์) ซึ่งไปด้วยกัน โดยมีพื้นฐานจากศาสนา (ยกเว้นจารวาก) ปรัชญาอินเดียจึงมีลักษณะขยายความคำสอนของศาสนา โดยให้หลักเหตุผลเป็นเครื่องมือ จึงมีลักษณะเป็นปรัชญาศาสนา ในแบบปรัชญาชีวิต

2.2 ปรัชญาจีน
2.2.1 ลักษณะทั่ว ๆ ไปของปรัชญาจีน

ปรัชญาจีนมีลักษณะเป็นปรัชญาชีวิต โดยอาศัยความเชื่อถือที่ผ่านมาในอดีตเป็นรากฐาน จึงไม่สนใจแสวงหาปฐมธาตุหรือการหลุดพ้น จึงมีลักษณะต่างจากปรัชญาตะวันตกและปรัชญาอินเดีย แต่ปรัชญาจีนให้ความสำคัญแก่มนุษย์ด้วยกัน ทำอย่างไรจึงเป็นคนดี มีความสุข ทำอย่างไรสังคม ประเทศและโลกจะมีความสงบสุข โดยอาจสรุปลักษณะทั่วไปของปรัชญาจีน ได้ดังนี้ (ฟื้น ดอกบัว, 2532)

ก. วิธีการและทัศนคติของปรัชญาจีน คือ เน้นหลักปฏิบัติและความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

1) มีทัศนะที่มองมนุษย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของโลกและจักรวาล ทุกชีวิตมีความสัมพันธ์กันและต้องพึ่งพิงธรรมชาติ

2) เน้นหลักปฏิบัติด้วยการฝึกฝนตนเอง เพื่อเข้าใจปัญหาทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม

3) มองสิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่ในแบบขัดแย้ง แต่มองถึงความกลมกลืนประสานสืบเนื่องของสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายในโลก จึงมีลักษณะเป็นปรัชญาแห่งเอกภาพของสวรรค์และมนุษย์

ข. เนื้อหาและเป้าหมายของปรัชญาจีน คือ เน้นชีวิตในโลกปัจจุบัน

1) เนื้อหาปรัชญาจีนมีลักษณะใกล้ชิดกับจริยศาสตร์ การเมือง วรรณคดีและศิลปะ

2) เป็นปรัชญาในลักษณะเชิงปฏิบัติ มุ่งนำไปใช้เพื่อการดำรงชีวิตในสังคม ไม่มีความรู้สึกรุนแรงในแง่ศาสนา เพราะเน้นที่การปฏิบัติหรือฝึกฝนตนเอง

3) เป็นปรัชญาที่ให้ความสำคัญต่อความรักเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หลักคำสอนจึงเน้นที่การทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดี มุ่งสู่ความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม ไม่ใช่มุ่งสู่ชีวิตในโลกหน้าหรือไม่ได้มุ่งสู่การหลุดพ้นเป็นหลัก ดังนั้นเนื้อหาปรัชญาจึงเน้นเรื่องจริยศาสตร์มากกว่าเพิ่มพูนความรู้แก่สติปัญญา

4) มีเนื้อหาที่เน้นหลักศีลธรรม อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบัน

5) ต่อมาเมื่อแนวคิดพัฒนาขึ้นเป็นความเชื่อศรัทธา จึงได้รับการยอมรับเป็นศาสนาในที่สุด ได้แก่ศาสนาเต๋าและศาสนาขงจื้อ




ค. ทัศนะด้านความรู้ (ญาณวิทยา) มุ่งรู้เพื่อเอาไปใช้ในชีวิตปัจจุบัน

ปรัชญาจีนถือว่าความรู้เป็นเครื่องมือ/อุปกรณ์สู่อุดมคติอันสูงส่ง ที่สามารถปฏิบัติได้จริงในชีวิตปัจจุบัน ดังนั้นจึงเน้นความรู้ที่ปฏิบัติได้จริง อันเกิดประโยชน์แก่ชีวิตปัจจุบัน

ง. ไม่มีการแยกแบบแบ่งย่อย แต่มีลักษณะผสานกลมกลืนแบบองค์
รวม
1) ไม่มีการแยกเป็นระบบหรือสาขาวิชาย่อยในปรัชญาจีน

2) แนวคิด/ปรัชญาจีนมีลักษณะที่ผสานกลมกลืน ไม่สามารถแยกกันได้ ทั้งเรื่องอภิปรัชญา ญาณวิทยา ตรรกวิทยา จริยศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ ฯลฯ

จ. ปรัชญาจีนเป็นลักษณะของการผสานระหว่างจิตนิยมกับสัจนิยม

1) ปรัชญาจีนเป็นการผสมผสานระหว่างอุดมคติ (จิตนิยม) กับความเป็นจริง (สัจนิยม)

2) การผสมผสานกันนี้ส่วนใหญ่เนื่องมาจากการปะทะกันของระบบปรัชญาสำคัญสองระบบ คือ ปรัชญาเต๋า (เน้นอุดมคติ) กับปรัชญาขงจื้อ (เน้นภราดรภาพของมนุษย์ในโลกปัจจุบัน)


ลักษณะปรัชญาจีน มุ่งแสวงหาสัจจะในชีวิตจริง มุ่งการแก้ปัญหา/ตอบปัญหาชีวิตประจำวัน เพื่อความสงบสุขของมนุษย์ในสังคมปัจจุบัน มนุษย์เป็นศูนย์กลางของปรัชญาจีน โดยมุ่งสอนให้เป็นคนดี มีความรู้และบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมตลอดทั้งโลก เน้นความรู้ที่นำไปปฏิบัติได้เพื่อทำให้เป็นคนดีมีคุณธรรม เราจึงกล่าวได้ว่าปรัชญาจีน มีลักษณะเป็นมนุษยนิยม โดยมุ่งตอบปัญหาที่ว่า “ทำอย่างไร” มากกว่าจะตอบว่า “ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น”

2.2.2 แนวคิดปรัชญาจีนที่สำคัญ

คือ เหลาจื้อ หรือ เล่าจื้อ (Lao Tze, ราวศตวรรตที่ 5 ก่อน ค.ศ.) กับขงจื้อ (Confucius, ราวปี 551 – 478 ก่อน ค.ศ.) กล่าวคือ

ก. เหลาจื้อ (ปรัชญาเต๋า)
สรุปแนวความคิดได้ดังนี้

1) แนวคิดเป็นลักษณะจิตนิยม สอนว่าความจริงแท้คือ “เต๋า” (นามสมมุติ) อันเป็นธรรมชาติที่อยู่เหนือการสมมุติ มีอยู่เอง เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่งและพิสูจน์ไม่ได้ด้วยผัสสะ (ประสบการณ์ระดับประสาทสัมผัส) คำสอนเรื่องเต๋า มีบรรจุในคัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง (Tao Te Ching) ซึงเชื่อว่าเหลาจื้อ/เล่าจื้อ เป็นผู้นิพนธ์ไว้

2) มนุษย์สามารถเข้าถึง “เต๋า” ได้ อาศัยจิตที่สงบ

3) ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ดีอยู่แล้ว แต่มนุษย์ถูกความอยากเข้าครอบงำ ทำให้ตกอยู่ในอำนาจกิเลสตัณหา จึงทำให้หันหลังไปจากเต๋า มุ่งแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาตอบสนองความอยากของตน ผลที่ตามมาคือ ทำให้มนุษย์มีความทุกข์

4) มนุษย์จึงควรกลับเข้าหา “เต๋า” มุ่งสู่ธรรม สละทางโลก มุ่งสู่ความสงบ ดำรงชีวิตเรียบง่าย

5) การกลับคืนสู่เต๋า คือ การดำเนินชีวิตสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ เรียบง่าย หยุดสร้างวัฒนธรรมและอารยธรรมต่าง ๆ ให้หมดสิ้น

6) แนวคิดทางการเมือง คือ การปล่อยให้ประชาชนอยู่อย่างมีอิสรภาพ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ความเดือดร้อนของสังคมเป็นผลจากการศึกษาและการเข้าไปก้าวก่ายของรัฐในการเข้าไปปกครองประชาชน รัฐในอุดมคติคือ รัฐที่มีเต๋า มุ่งความสงบเป็นที่ตั้ง ไม่รุกรานใคร

ข. ขงจื้อ (ปรัชญาขงจื้อ)

สรุปลักษณะแนวคิดปรัชญาขงจื้อได้ดังนี้

1) ไม่ค่อยพูดถึงสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่เน้นโลกปัจจุบัน มุ่งสู่ความสงบสุขของโลก มุ่งคุณธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต

2) เป็นปรัชญาปัจเจกชน กล่าวคือ เน้นทำตัวให้ดีก่อนอาศัยการศึกษาเล่าเรียนและยึดมั่นในจารีตวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ แล้วสังคมจะดีเอง

3) ปรัชญาสังคมการเมือง เน้นให้แต่ละคนทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ รัฐบาลต้องช่วยทำประโยชน์ให้ประชาชน (รัฐควรเข้ามาจัดระบบ)

4) เน้นให้สนับสนุนให้ตั้งระบบครอบครัวและนับถือวงศาคณาญาติ

5) มองธรรมชาติของมนุษย์ว่าดีงาม แต่เพราะมนุษย์หลงลืมไม่ปฏิบัติตามจารีตประเพณีและคุณธรรมที่ดี ทำให้มนุษย์เดือดร้อน แต่ความเลวร้ายจะหมดไปถ้ามนุษย์ยึดมั่นตามจารีตประเพณีและคุณธรรมตามเดิม

นอกจากนี้มีแนวคิดของนักปรัชญาอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เม่งจื้อ (Maeng Tzu, ราวปี 389 – 305 ก่อน ค.ศ.) จังจื้อ (Chuang Tzu, ราวปี 399 – 295 ก่อน ค.ศ.) ม่อจื้อ (หรือบัคจื้อ) (Mo Tzu, ราวปี 381 ก่อน ค.ศ.) ฯลฯ แต่ก็มีพื้นฐานอยู่บนการอธิบายแนวคิดของปรัชญาเต๋า หรือปรัชญาขงจื้อ แล้วแต่ว่านักปรัชญาแต่ละท่านจะเห็นด้วยกับแนวคิดของใคร (ระหว่างเต๋า กับ ขงจื้อ) หรืออาจประสานระหว่างแนวคิดทั้งสองเข้าด้วยกัน รวมทั้งการประสานแนวคิดกับปรัชญาตะวันตก (ด้านการเมือง) เพื่อจัดระบบการปกครอง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากแนวคิดของเหมา เจ๋อ ตุง ที่ปฏิรูประบบการเมือง การปกครองของจีน ส่งผลยังสมัยปัจจุบัน

2.3 เปรียบเทียบปรัชญาอินเดียกับปรัชญาจีน
2.3.1 ลักษณะที่เหมือนกัน
ก. ลักษณะทั่วไป : เป็นปรัชญาชีวิต
ทั้งปรัชญาอินเดียและจีน ไม่ค่อยสนใจที่มาที่ไปของสรรพสิ่ง แต่มีลักษณะเป็นปรัชญาชีวิต หรือเป็นมนุษยนิยม กล่าวคือเน้นแนวคิดที่นำไปใช้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เพื่อมุ่งสู่อุดมคติที่ดี



ข. ด้านพื้นฐานความคิด : มีพื้นฐานความคิดในแบบ “วิญญาณนิยม”
บ่อเกิดอันเป็นพื้นฐานความเชื่อของปรัชญาอินเดียและจีน มีลักษณะคล้ายกัน คือ มีพื้นฐานความเชื่อแบบวิญญาณนิยม คือเชื่อว่า สิ่งต่าง ๆ เกิดจากวิญญาณ/เทพที่ยิ่งใหญ่ ทรงอำนาจ ควบคุมทุกสิ่ง ให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ได้ โดยเทพเจ้ามีลักษณะเป็นพหุเทวนิยม (Polytheism, เทพหลายองค์ มีระดับความศักดิ์สิทธิ์/อำนาจต่างกัน) มนุษย์ต้องสวามิภักดิ์ต่อเทพเจ้า เพื่อความปลอดภัยของชีวิตตน

ค. ด้านจริยศาสตร์ : เน้นเรื่องจริยศาสตร์ ความเป็นเอกภาพท่ามกลางสรรพสิ่ง
ทั้งปรัชญาอินเดียและจีน เน้นเรื่องจริยศาสตร์ เป็นจริยศาสตร์ที่เป็นไปเพื่อความสงบสุขของตนเองและสังคมโลก เน้นให้อยู่ร่วมกันในสังคมและธรรมชาติอย่างกลมกลืน เป็นเอกภาพ ถือว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์จึงต้องอยู่ในธรรมชาติอย่างกลมกลืนและเป็นหนึ่งเดียว เป็นมิตรกับธรรมชาติรอบตัว

ง. ทรรศนะด้านความรู้ : เน้นความรู้ในฐานะเป็นเครื่องมือ/อุปกรณ์
ทั้งปรัชญาอินเดียและจีน เน้นความรู้เพื่อทำให้ชีวิตตนดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น ไม่ใช่รู้เพื่อรู้ แต่รู้เพื่อเป็นเครื่องมือสู่การมีอนาคตที่ดีในชีวิตนี้/ชีวิตหน้า เน้นความรู้เพื่อทำให้คนเป็นคนดี เป็นนักปกครองที่ดี เป็นต้น

2.3.1 ลักษณะที่ต่างกันของปรัชญาอินเดียกับปรัชญาจีน

ก. เนื้อหาปรัชญา ปรัชญาจีนเป็นปรัชญาชีวิตเชิงมนุษนิยมเชิงจริยศาสตร์ ส่วนปรัชญาอินเดียเป็นปรัชญาชีวิตแนวจิตนิยม

กล่าวคือ ปรัชญาจีนส่วนใหญ่จะเป็นแนวเกี่ยวกับชีวิตในปัจจุบัน (ชีวิตในชาตินี้) ปรัชญาจีนจึงออกมาในรูปของหลักการดำเนินชีวิตที่จะได้รับประโยชน์สุขในปัจจุบัน ให้ความสำคัญต่อสังคมมนุษย์และมุ่งแก้ปัญหาชีวิตและสังคมปัจจุบัน ในขณะที่ปรัชญาอินเดียส่วนใหญ่เป็นแนวจิตนิยม ซึ่งมุ่งประโยชน์ในชีวิตหน้า

ข. จุดมุ่งหมายของปรัชญา ปรัชญาจีนมุ่งชีวิตนี้ ปรัชญาอินเดียมุ่งชีวิตหน้า
ปรัชญาจีนมีจุดหมายเพื่อสร้างสังคมให้เป็นสุข มีเป้าหมายที่ชีวิตในโลกนี้ ในขณะที่ปรัชญาอินเดียมุ่งรู้เพื่อการหลุดพ้น เป็นหลัก

ค. แนวความคิดเรื่องการเคารพ/บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ปรัชญาจีนที่สอนให้เคารพบูชาวิญญาณ (สิ่งศักดิ์สิทธิ์) เป็นการสอนที่เน้นเรื่องความกตัญญูรู้คุณเป็นหลัก โดยไม่ได้มุ่งหวังประโยชน์ในโลกหน้าหรือเพื่อการหลุดพ้น ส่วนปรัชญาอินเดียที่มีการสอนให้เคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีจุดหมายเพื่อขอพรเพื่อบรรลุโฆกษะ เป็นต้น

3. พัฒนาการและภาพรวมของปรัชญาตะวันตก
ปรัชญาตะวันตก มีร่องรอยว่าก่อกำเนิดในดินแดนกรีกโบราณ (ก.ค.ศ. 1500) ปรากฏชื่อ “เทเลส” (Thales of Miletus, 624 – 546 ก.ค.ศ.) ผู้ทรงคุณวุฒิชาวกรีก ซึ่งนักวิชาการสาขาวิชาปรัชญาให้การยอมรับว่าเป็นบิดาแห่งปรัชญาตะวันตก ท่านกำหนดกรอบในการอธิบายความเป็นจริง (Reality) ด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับปฐมธาตุที่เป็นพื้นฐานให้สรรพสิ่งดำรงอยู่ (อะไรคือปฐมธาตุ) โดยวิเคราะห์ได้สองประเด็นสำคัญคือ “อะไรเป็นสิ่งเที่ยงแท้” และ “จะอธิบายความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไร” (Stumpf, 1989: 4) การกำหนดกรอบคำถามเพื่อแสวงหาคำตอบตามหลักเหตุ-ผลของเทเลส มีผลทำให้สานุศิษย์และผู้สนใจแสวงหาความเป็นจริง (นักปรัชญา) พยายามหาคำตอบในกรอบดังกล่าวที่เทเลสได้วางพื้นฐานและอธิบายคำตอบไว้ ทั้งนี้แบ่งประเด็นความคิดที่นักปรัชญาตะวันตกสนใจได้สองประเด็นใหญ่ ๆ คือ ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริง (Reality) หรือทฤษฏีทางอภิปรัชญา (ได้แก่ นักปรัชญายุคกรีกโบราณจนถึงนักปรัชญายุคกลาง, ก.ค.ศ. 600 – ค.ศ. 1500) และปัญหาเกี่ยวกับความจริง (Truth) หรือทฤษฏีทางญาณวิทยา (ได้แก่ นักปรัชญาตะวันตกยุคใหม่เป็นต้นมา, ค.ศ. 1600 - 1800) (Hick, 1974: 200)



3.1 บริบทและพื้นฐานของปรัชญาตะวันตก

3.1.1 สืบเนื่องจากการกำเนิดของการคิดหาคำตอบในช่วงแรกของ (ก่อน)ประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ดำเนินมาหลายพันปี ตำนานเทพเจ้าต่าง ๆ จากชนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง (แนวคิดมีลักษณะเป็นแนววิญญาณนิยม, Animism)

3.1.2 จนราว 700 ปี ก่อน ค.ศ. จึงมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร (เช่น ตำนานเทพเจ้าของโฮเมอร์, Homer ) เมื่อมีการบันทึก ย่อมมีการอ่าน คิดและวิจารณ์สิ่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร

3.1.3 มีการวิจารณ์ว่าตำนานเทพเจ้านี้ นำเทพมาเป็นคล้ายมนุษย์เกินไป (มีการฆ่า มีชู้ ทรยศ หักหลัง ฯลฯ) ที่สุดมีความคิดว่าตำนานเหล่านี้เป็นเพียงจินตนาการของมนุษย์

3.1.4 ประกอบกับดินแดนแถบยุโรป (กรีกโบราณ) มีการก่อตั้งนครรัฐและอาณานิคมขึ้นโดยพวกกรีก ชาวกรีก มีการแบ่งชนชั้น มีเจ้านายกับทาส

3.1.5 พลเมืองกรีกมีเวลาที่จะคิด ทบทวนคำถาม สู่การพยายามหาคำตอบ โดยไม่ต้องพึ่งเทพเจ้า (เป็นคำตอบสุดท้าย) แต่พยายามหาคำตอบบนพื้นฐานของประสบการณ์และเหตุผล

3.1.6 มีความพยายามที่จะอธิบายสิ่งที่เป็นไปในธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งเหนือธรรมชาติ

3.1.7 ต่อมามีการพัฒนาและแบ่งเป็นยุค ๆ ได้แก่ ยุคกรีกโบราณ ยุคกลาง ยุคใหม่และยุคปัจจุบัน (หลักการแบ่งคือ ช่วงเวลา.....เนื้อหา/สถานที่/สถานการณ์)

3.1.8 ข้อสังเกต
1) การศึกษาประวัติความคิดของนักปรัชญาตะวันตก อย่าไปดูถูก “คำตอบ” ว่าไร้สาระ เพราะทุกคำตอบมีที่มาที่ไป ตามสถานการณ์

2) การศึกษาประวัติความคิดของนักปรัชญาตะวันตก มีการแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ (รายละเอียดมีความแตกต่างกันในนักคิดแต่ละท่าน) จุดเน้นเหมือนกัน แต่มีรายละเอียดที่ต่างกัน

3) แนวคิดของนักปรัชญาตะวันตก มีลักษณะเป็นพัฒนาการ จากอาจารย์สู่ศิษย์ ไม่ใช่ต้องการหักล้าง แต่เป็นการพัฒนาการขบวนการพัฒนาความคิดทางปรัชญา ไม่ใช่อยู่ที่แนวคิดหรือลัทธิใหม่ ๆ แต่เป็นการพยายามของนักปรัชญาที่จะบรรลุถึงความจริงให้มากยิ่ง ๆ ขึ้น

3.2 ปรัชญาตะวันตกตามยุคต่าง ๆ
มีการแบ่งปรัชญาตะวันตกได้เป็นสี่ยุค (Copleston, 1964) ได้แก่

3.2.1 ปรัชญาตะวันตกยุคกรีกโบราณ

ก. ภาพรวมทั่วไป
ปรัชญายุคกรีกโบราณมีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่เริ่มต้นของนักปรัชญากรีกจนถึงยุคกลาง (ก่อน ค.ศ. – คริสตศตวรรษแรกๆ) โดยเน้นปัญหาเชิงอภิปรัชญา กล่าวคือ ปัญหาเรื่องความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของโลกและกระบวนการของมัน เป็นความต้องการภายในตัวมนุษย์ ที่ต้องการหาคำตอบ อธิบายธรรมชาติที่มีอยู่ คิดหาคำตอบอย่างมีหลักการ (ประสบการณ์ + เหตุผล) โดยแบ่งได้เป็นสามช่วง คือ (กีรติ บุญเจือ, 2522)

 ปรัชญากรีกยุคแรก
 ปรัชญากรีกยุครุ่งเรือง
 ปรัชญากรีกหลังยุครุ่งเรือง (ยุคเสื่อม)

1) ปรัชญากรีกยุคแรก (ราว 600 – 500 ปีก่อน ค.ศ.)
มีลักษณะเป็นนักปรัชญาธรรมชาติ กล่าวคือ สนใจปัญหาเรื่องปฐมธาตุ - มีการแบ่งย่อยเป็นสำนัก โดยดูจากทำเลที่ตั้ง เมือง เป็นหลัก

1.1) คำถาม
โลก (สิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ) มาจากไหน และปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลง
1.1.1) ชาวกรีกคิดว่า สิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่เกิดขึ้นลอย ๆ (เพราะสิ่งที่มีอยู่ ต้องมาจากสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่ไม่มีอยู่ไม่อาจให้ความมีอยู่แก่สิ่งที่มีอยู่ได้) ก่อนที่เราจะให้สิ่งหนึ่งแก่คนอื่น เราต้องมีสิ่งนั้นก่อนที่เราจะให้สิ่งนั้นแก่คนอื่นสิ่งต่าง ๆ มาจากอะไร (ปัญหาเรื่องปฐมธาตุ)

1.1.2) ชาวกรีกสังเกตพบว่าสิ่ง ๆ หนึ่งมีการเปลี่ยนแปลง เช่น จากเด็กเป็นผู้ใหญ่ จากลูกมะม่วงเป็นต้นมะม่วง อะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

1.2) คำตอบ
สิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ มีที่มาจากบางอย่าง อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง ซึ่งเป็น “ปฐมธาตุ” (Stumpf, 1989) เป็นพื้นฐานและหลักการของทุกสิ่งที่มีอยู่ สิ่งต่าง ๆ มีที่มาที่ไปจากปฐมธาตุนั้น และทุกสิ่งเป็นกระบวนการจาก ปฐมธาตุ กลับไปสู่ปฐมธาตุนั้น (ความเปลี่ยนแปลง) ดังนั้น “ปฐมธาตุคืออะไร?” เป็นปัญหาของนักปรัชญากรีกยุคแรก (ระยะก่อตัวที่เกาะไอโอเนียน)โดยคำตอบค่อย ๆ พัฒนาจากรูปธรรมสู่นามธรรม เช่น ปฐมธาตุ คือ (Copleston, 1964, กีรติ, 2522)

1.2.1) “น้ำ” (เทเลส, Thales of Miletus, 624 – 546 ก.ค.ศ.) เนื่องจากรอบตัวมีแต่ “น้ำ”

1.2.2) “สารไร้รูปที่เป็นอนันต์” (อานักซีมานเดอร์, Anaximander, 610 – 545 ก่อน ค.ศ.) มีลักษณะไม่จำกัด ไม่อาจรู้ได้ไม่หมด) แต่สารนี้มีลักษณะเป็นสารที่ไร้รูปแบบ (Formless material) ที่สามารถพัฒนาตนเองเป็นธาตุต่างๆ ได้

1.2.3) “อากาศ” (อานักซีเมเนส, Anaximenes, 588 – 524 ก่อน ค.ศ.) เนื่องจากอากาศมีอยู่ทั่วไป รวมทั้งน้ำก็มาจากอากาศด้วย

1.2.4) “ตัวเลข” (ปีทากอรัส, Pythagoras, 570 – 497 ก่อน ค.ศ.) ความสมดุลของสัดส่วนเป็นพื้นฐานของสรรพสิ่ง

1.2.5) “ความเปลี่ยนแปลง” (ฮาราครีตุส, Heraclitus, 536 – 470 ก่อน ค.ศ.) สัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงคือ ไฟ สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การหยุดนิ่งเป็นมายา (ท่านไม่อาจอาบน้ำในแม่น้ำสายเดียวกันได้สองครั้ง)

1.2.6) “การอยู่นิ่ง” (ปาร์เมนีเด็ส, Parmenides, 515 – 450 ก่อน ค.ศ.)สัญลักษณ์คือ ดิน

1.2.7) “จิตและสสาร” (อานักซาโกรัส, Anaxagoras of Clazomene, 499 – 428 ก่อน ค.ศ.)

1.2.8) “ดินน้ำลมไฟ” (เอ็มเปโดเคล็ส, Empedocles, 492 – 430 ก่อน ค.ศ.) การเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการแยก/รวมกันของธาตุทั้งสี่


2) ปรัชญากรีกยุครุ่งเรือง (ราว 450 - 300 ปีก่อน ค.ศ.)
เริ่มต้นด้วยความคิดว่า ปัญหาที่นักปรัชญาถกกัน มีแต่คิดหาคำตอบว่าปฐมธาตุคืออะไร กับปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลง มีคำตอบเยอะแยะ อันไหนถูก อันไหนผิด เอาอะไรมาวัด/ตัดสิน มีแต่ความขัดแย้งทางความคิด ดังนั้น จึงมีนักปรัชญากลุ่มหนึ่งสนใจหาหลักการวัดความจริงเพื่อประโยชน์ต่อการดำรงชีพจะดีกว่า (สมัคร บุราวาศ, 2544, กีรติ, 2522, Copleston, 1964, Stumpf, 1989)

2.1) คำถาม : มีความจริงที่เป็นหลักการแน่นอนหรือไม่

2.2) คำตอบ : มีคำตอบสองแนว คือ แนวแรกมีความคิดว่าไม่มีมาตรการความจริงที่แน่นอนตายตัว ความจริงขึ้นกับแต่ละบุคคล และ คำตอบแนวที่สอง คือ มีความคิดว่า ความจริง ต้องมีหลักการที่แน่นอน ซึ่งมีการนำเสนอแนวคำตอบดังกล่าว ผ่านทางนักปรัชญา/กลุ่มนักปรัชญาดังต่อไปนี้

2.2.1) กลุ่มโซฟิสต์ (ราวศตวรรษที่ 5 ก่อน ค.ศ.)
- มีลักษณะเป็นกลุ่มนักปรัชญาที่ตั้งตัวเองเป็นอาจารย์สอน
วิชาการเพื่อความสำเร็จทางการเมือง

- มีแนวคิดว่าไม่มีมาตรการความจริงที่แน่นอนตายตัว แต่มีลักษณะอัตนัย (Subjective) กล่าวคือ ความจริงขึ้นกับแต่ละคน ไม่มีหลักความจริงที่ตายตัว สิ่งที่ดีคือดีสำหรับตนเอง/ ปัจเจก แต่ละคนต่างมีเกณฑ์/มาตรการของใครของมัน

- มีการเปิดสำนักสอนเรียน เก็บค่าเรียน เพื่อมีบทบาทในสังคมการเมืองการปกครอง จะปกครองบ้านเมืองได้ ต้องมี “วาทศิลป์ที่ดี” เอาชนะคนอื่นได้ด้วยการโต้แย้ง

- นักปรัชญาที่มีชื่อเสียง ได้แก่ โปรตาโกรัส (Protagoras of Abdera, ราวปี 480 – 410 ก่อน ค.ศ.) เสนอแนวคิดว่า “คนเป็นมาตรการวัดความจริงของทุกสิ่ง” (ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง แต่เป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงในกลุ่มโซฟิสต์)

2.2.2) โซคราเต็ส (Socrates, ราวปี 470 – 399 ก่อน ค.ศ.)

- มีแนวคิดว่า “มีมาตรการวัดความจริงที่ตายตัว” กล่าวคือ
ความจริงไม่ได้ขึ้นกับคนใดคนหนึ่ง แต่ความจริงมีลักษณะเป็น “ปรนัย” (Objective) คือ มีความจริงที่แน่นนอน ไม่ได้ขึ้นกับคนหรือสถานที่ใดที่หนึ่ง

- ความคิดสำคัญของโซคราเตส คือ “คุณธรรม คือ ความรู้”
กล่าวคือ มนุษย์ทุกคนมีธรรมชาติที่ดี จึงทำเฉพาะสิ่งที่ดี การที่มนุษย์ทำไม่ดี เพราะเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ดี (ถ้าเขารู้ว่าไม่ดี เขาจะไม่ทำ) ดังนั้น จึงต้องสอนให้มนุษย์รู้ว่าอะไรดี อะไรถูก เพื่อมนุษย์จะได้ทำเฉพาะสิ่งที่ดี

- ใช้วิธีการเสวนา (วิภาษวิธี, Dialectic) คือ เริ่มจากการตั้งคำถามและฟังคำตอบจากคู่สนทนา และค่อย ๆ ดึงความรู้จากคู่สนทนาและทำให้คู่สนทนาได้ความรู้เพิ่มขึ้น

2.2.3) เปลโต้ (Plato, ราวปี 428 – 347 ก่อน ค.ศ.)
- เป็นศิษย์และเห็นด้วยกับแนวคิดของโซคราเตสว่า มีหลักการที่
แน่นอนของความจริง

- ความคิดสำคัญคือ “ทฤษฏีแบบ” คือ คิดว่าความจริงที่พบเห็นในโลก เป็นมายา ไม่ใช่ความจริงแท้ เพราะความเป็นจริงแท้ (สากล) มีอยู่ในโลกแห่งแบบ (The world of Idea) ซึ่งไม่ได้อยู่ในโลกนี้ สิ่งต่างๆ ในโลกเป็นการเลียนแบบ โลกแห่งแบบ มนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงในโลกแห่งแบบได้ ผ่านทางจิตวิญญาณ (สติปัญญา) หาเหตุผล

1.2.3) อริสโตเติ้ล (Aristotle, ราวปี 384 – 322 ก่อน ค.ศ.)
- เป็นศิษย์ของเปลโต้ และเห็นด้วยว่ามีหลักการที่แน่นอนของความจริง

- ความจริงมีอยู่ และไม่ใช่อยู่นอกโลก หรืออยู่ในโลกแห่ง
แบบอย่างที่เปลโต้คิด แต่ความจริงมีอยู่ในโลก (โลกแห่งแบบไม่มีจริง) สิ่งที่เราพบเห็นในโลก (สิ่งเฉพาะหน่วย เช่น นาย ก.) มีอยู่จริง ไม่ใช่เป็นมายาอย่างที่เปลโต้คิด มนุษย์สามารถรู้ถึงความจริงได้อาศัยกระบวนการถอดให้เป็นสากล ซึ่งเป็นการทำงานของสติปัญญามนุษย์ โดยรับข้อมูลเบื้องต้นจากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเพื่อเข้าใจถึงมโนภาพที่เป็นสากลของสิ่งนั้นๆ)

- อธิบายความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ว่า การเปลี่ยนแปลง
ต่างๆ เป็นการพัฒนาจาก “ภาวะแฝง” (Potency) สู่ “ภาวะจริง” (Act) กล่าวคือ สิ่งที่มี มีทั้งภาวะจริง (ภาวะที่เป็นอยู่ในขณะนั้น) และภาวะแฝง (พลังหรือศักยภาพภายในของสิ่งนั้น ที่สามารถจะเป็นได้ตามประเภทของสิ่งนั้น) การเปลี่ยนแปลง คือ การพัฒนาจากภาวะจริงสู่ภาวะแฝงของสิ่งนั้น

- นอกจากนั้น อริสโตเติ้ลยังอธิบายการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ โดยใช้แนวคิดเรื่อง “สาเหตุ/ปัจจัย” (Cause) ท่านอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ มีเหตุมาจากสี่ประการ คือ สาเหตุทางวัตถุ (Material cause) สาเหตุทางรูปแบบ (Formal cause) สาเหตุทางผล (Efficient cause) และสาเหตุสุดท้าย (Final cause)


3) ปรัชญากรีกหลังยุครุ่งเรือง (ยุคเสื่อม) (ราว ปี 300 – ค.ศ. 529)
แนวคิดมีลักษณะเป็นการนำของเก่า หรือ ความคิดของนักปรัชญาในอดีตมาคิดต่อ หรือนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อหาวิธีการบรรลุสัจธรรม เน้นตอบปัญหาเชิงจริยศาสตร์ ทำอย่างไรจึงมีความสุข ตัวอย่างเช่น

3.1) ลัทธิเปลโต้ใหม่ (Neoplatonism) นำแนวคิดของเปลโต้มาคิดและมาช่วยอธิบายศาสนาที่ตนเลื่อมใส นักปรัชญาที่เด่นๆ คือ โปลตีนุส (Plotinus, ราว ค.ศ. 205 – 270) (ช่วงปลายยุครุ่งเรืองสู่ยุคเสื่อม) นำเสนอ“ทฤษฏีการล้น” กล่าวคือ ความจริงแท้ คือ “The One” (องค์เอกัตตา) ซึ่งมีลักษณะสมบูรณ์ สิ่งที่สมบูรณ์ต้องล้นออกมา การล้นออกจาก The One กลายเป็นกำเนิดของสรรพสิ่งต่างๆ สิ่งใดอยู่ใกล้องค์เอกัตา (The One) สิ่งนั้นก็มีระดับขั้นของความสมบูรณ์ลดระดับกันออกไป

3.2) ลัทธิรตินิยม (Hedonism) ลัทธิทางปรัชญาที่ตอบปัญหาเชิงจริยศาสตร์ สอนว่าให้มนุษย์กอบโกยเอาความสุขเฉพาะหน้า (ทางกาย) เป็นจุดหมายของชีวิต คนฉลาด คือ คนที่กอบโกยความพึงพอใจในทุกโอกาส

3.3) ลัทธิเอปีคูรุส (Epicureanism) สอนว่าความสุขอยู่ที่การประมาณตน คนฉลาด คือ คนที่รู้จักประมาณตนในการแสวงหาความพึงพอใจ

3.4) ลัทธิสโตอา (Stoicism) ผู้ก่อตั้งคือ เซโน (Zeno of Citium, ราวปี 336 – 263 ก่อน ค.ศ.) สอนว่าความสุขคือ การสงบใจ ต้องมีความพอใจกับสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ มีใจอุเบกขาในการดำเนินชีวิต

3.5) ลัทธิซีนิก (Cynicism) สอนว่าความสุขคือการตัดทุกสิ่ง ดำเนินชีวิตโดยที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก อย่าต้องการอะไรมากนัก ชีวิตจะเป็นสุข

ข. สรุป : ลักษณะสำคัญของแนวคิดปรัชญากรีก
1) นักปรัชญาตะวันตกยุคกรีก พยายามที่หาคำตอบด้วยสติปัญญาของมนุษย์ (ไม่ต้องพึ่งตำนานเทพเจ้า)
2) มองหากฎธรรมชาติที่ตายตัว (เดิมมีความเข้าใจว่าไม่ตายตัว ทุกสิ่งเป็นไปตามใจเทพเจ้า) คำถามและคำตอบ จาก สสารนิยม (ปรัชญาตะวันตกยุคกรีกระยะเริ่มต้น) สู่จิตนิยม (ปรัชญาตะวันตกยุคกรีก ระยะรุ่งเรือง) และจบลงที่การตอบปัญหาเชิงจริยศาสตร์/ ปรัชญาศาสนา (ปรัชญาตะวันตกยุคกรีก ยุคเสื่อม)
3) จากพื้นฐานคำตอบที่นักปรัชญากรีกให้ เป็นพื้นฐานสู่การคิดหาคำตอบต่อไปด้วยสติปัญญาของมนุษย์ (วิทยาศาสตร์)

3.2.2 ปรัชญาตะวันตกยุคกลาง (ระหว่างปี ค.ศ. 100 – 1500) : การจัดระบบของคริสต์ศาสนา โดยใช้ปรัชญากรีก

ก. ความนำ : โลกยุคเฮเลนนิสม์
ในดินแดนโลกตะวันตก (ทวีปยุโรป) วัฒนธรรมกรีกถือเป็นต้นแบบของอารยธรรม ทั้งด้านวิถีชิวิต แนวคิด การเมือง การปกครอง ฯลฯ แม้อาณาจักรกรีกจะล่มสลาย และถูกแทนที่ด้วยจักรวรรดิ์โรมัน (ชาวโรมันยึดครองกรีก และรับเอาวัฒนธรรมกรีกมาเป็นของ ๆ ตน จึงให้ชื่อว่า กรีก-โรมัน) ภายหลังการล่มสลายของจักรวรรรดิ์โรมัน และยุโรปมีการแบ่งการปกครองเป็นเขต ๆ (ประเทศ) แต่ละเขตก็ยังรับเอาวัฒนธรรมกรีก-โรมันมาใช้เป็นแม่แบบอารยธรรมของตน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าโลกยุคเฮเลนนิสม์ กล่าวคือ การนำวัฒนธรรมกรีกมาใช้เป็นแม่แบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในยุโรปสมัยนั้น ๆ (สมัคร บุราวาศ, 2544)

ข. บริบท/สถานการณ์ของปรัชญาตะวันตกยุคกลาง

1) จักวรรดิ์โรมันเรืองอำนาจ (ชาวโรมันรับวัฒนธรรมกรีกมาเป็นของ ๆ ตน) ในโลกเฮเลนนิสม์ (มุ่งเน้นการหลุดพ้นจากความชั่วร้ายในโลก เพื่อมุ่งสู่ความรอดพ้น) มีการศึกษาอารยธรรมกรีกอย่างกว้างขวาง เป็นต้นการศึกษาปรัชญากรีกตามแนวคิดของนักคิดกรีกที่มีชื่อเสียงในอดีต มีการเปิดสำนักสอนปรัชญา โดยเฉพาะการศึกษาแนวคิดทางปรัชญาเพื่อมุ่งสู่การหลุดพ้น (เน้นตอบปัญหาเชิงจริยศาสตร์ ทำอย่างไรจึงมีความสุข)

2) การเผชิญหน้ากันระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกกับตะวันออก วัฒนธรรมกรีกกับวัฒนธรรมฮินดู วัฒนธรรมอินโด-ยูเรเปียน (กรีกกับอินเดีย) และวัฒนธรรมเซมิติก (ศาสนายิว คริสต์ อิสลาม)

มีการเผชิญหน้ากันระหว่างปรัชญากรีก กับศาสนาทางตะวันออก (ฮินดู) และ ศาสนาจากแถบเซมิติก (แต่ละแนวมีอัตลักษณ์ของตน) แต่เมื่อต้องมาเผชิญหน้ากัน จึงเป็นลักษณะการผสานกันเพื่อการคงอยู่ของแนวของตน (Jostein, n.y)

3) หลังการสมัครนับถือศาสนาคริสต์ของจักรพรรดิคอนสแตนติน (ค.ศ. 272 – 337) ส่งผลให้คริสต์ศาสนาเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิโรมัน (แม้ภายหลังโรมันแตก พวกตีโรมันแตกก็รับคริสต์ศาสนาไปด้วย) คริสต์ศาสนาได้เผยแผ่และเจริญรุ่งเรืองในจักรวรรดิโรมัน คริสต์ศาสนากลายเป็นแนวการดำเนินชีวิตหลักของชาวจักรวรรดิ์โรมัน ขณะเดียวกัน ชาวโรมันได้รับมรดกแนวคิดและวัฒนธรรมกรีกมาด้วยซึ่งมีทั้งที่สอดคล้องและขัดแย้งกับคริสตศาสนา

ในขณะเดียวผู้นำของคริสต์ศาสนา มีท่าทีต่อปรัชญากรีกมสองแบบ คือพวกหนึ่งถือว่าปรัชญากรีกเป็นความคิดนอกคริสต์ศาสนา จึงเป็นศัตรูกับคริสต์ศาสนา ส่วนอีกพวกหนึ่ง ถือว่าปรัชญากรีกเป็นความสามารถของมนุษย์ในการใช้เหตุผลและสติปัญญาหาความจริง และสามารถนำมาใช้อธิบายคำสอนคริสต์ศาสนาได้

4) จากการที่จักรวรรดิโรมันค่อย ๆ เสื่อมอำนาจลง มีการแบ่งอดีตจักรวรรดิโรมัน (วัฒนธรรมกรีก-โรมัน) เป็นสามแนววัฒนธรรม ได้แก่

4.1) ยุโรปตะวันตก วัฒนธรรมคริสต์แบบละติน ซึ่งมีกรุงโรมเป็นศูนย์กลาง (คริสตชน)

4.2) ยุโรปตะวันออก วัฒนธรรมคริสต์แบบกรีก โดยมีกรุงคอนสแตนติโนเปิล (กรีกไบแซนติอุม) เป็นศูนย์กลาง

4.3) แอฟริกาเหนือและเอเชียตะวันออกกลาง พัฒนาสู่วัฒนธรรมอิสลาม (ชาวอาหรับ) นอกจากนี้ชาวอาหรับได้ยึดอดีตศูนย์กลางของอาณาจักรกรีกโบราณ (อเล็กซานเดีย) ทำให้วิทยาการของกรีกตกอยู่ในมือของอิสลาม

ค. ความหมายและปัญหาของปรัชญาตะวันตกยุคกลาง (ปรัชญาคริสต์ )
ปรัชญาคริสต์หมายถึง “ทรรศนะทางปรัชญาของผู้นับถือคริสต์ศาสนา” (กีรติ บุญเจือ, 2527) จุดรวมความสนใจของนักปรัชญาคริสต์ คือ การนำปรัชญาที่ได้รับการยอมรับในสมัยนั้น ๆ มาอธิบายความเชื่อในคริสต์ศาสนา กล่าวคือ การนำปรัชญากรีกมาช่วยจัดระบบและอธิบายความเชื่อในคริสต์ศาสนา มีนักปรัชญาคริสต์ที่สำคัญ ๆ หลายท่านที่พยายามประสานระหว่างคริสต์ศาสนากับปรัชญากรีก

ดังนั้น ปัญหาของปรัชญาตะวันตกยุคกลาง คือ จะผสานระหว่างปรัชญากรีกกับศาสนา (โดยเฉพาะคริสต์ศาสนา ) ได้อย่างไร

ง. คำถามและคำตอบของนักปรัชญาของศาสนาคริสต์
คำถามคือ จะอธิบายความเชื่อในคริสต์ศาสนาให้เข้าใจได้อย่างไร โดยอาศัยปรัชญากรีก โดยเฉพาะปรัชญาของเปลโต้กับอริสโตเติ้ล โดยแยกการอธิบายออกเป็นสองเรื่องใหญ่ ๆ

1) การอธิบายว่าปรัชญากรีกไม่ขัดแย้งกับคริสต์ศาสนา (ให้ผู้นำคริสต์ศาสนาเห็นคุณค่าของปรัชญา) อธิบายให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญากรีกกับคริสต์ศาสนา ต้องการนำเสนอความคิดว่า ความเชื่อและความรู้ไม่ขัดแย้งกัน แต่ไปด้วยกันได้ ความรู้/สติปัญญาทำให้เราเข้าใจความเชื่อ พยายามประสานระหว่างปรัชญากับเทววิทยาเข้าด้วยกัน และอาศัยปรัชญากรีกนี่เอง ทำให้คำสอนคริส์ศาสนา/อิสลาม เป็นวิชาการ (เทววิทยา) จนถึงกับสรุปในสมัยนั้นว่า ปรัชญาเป็นสาวใช้ของเทววิทยา (นักบุญโทมัส อาไควนัส)

2) การอธิบายว่าคริสต์ศาสนาใช้ปรัชญากรีกมาช่วยอธิบายคริสต์ศาสนา ตามแนวปรัชญาของเปลโต้ (ปรัชญาปิตาจารย์) หรืออริสโตเติ้ล (ปรัชญาอัสสัมมาจารย์ และ ปรัชญาอิสลาม ) โดยนำเฉพาะแนวคิดบางเรื่องมาช่วยอธิบาย ไม่ใช่นำทุกเรื่องมาพูดถึง หรือปรับปรุงคำสอนของคริสต์ศาสนาให้เข้ากับปรัชญากรีก

จ. ตัวอย่างนักปรัชญาของศาสนาคริสต์ที่สำคัญ ๆ
นักวิชาการของศาสนาคริสต์ ที่นำปรัชญากรีกมาช่วยจัดระบบและอธิบายคำสอนของศาสนาคริสต์ที่สำคัญๆ มีหลายท่าน เช่น นักบุญเปาโล (St. Paul, ค.ศ. 10 – 67) นักบุญออกัสติน (St. Augustine, ค.ศ. 354 – 430) นักบุญอันเซ็ลม์ (St. Anselm, ค.ศ. 1033 – 1109) นักบุญอัลเบิร์ต (St. Albert the Great, ค.ศ. 1193 – 1280) นักบุญโบนาเวนตูรา (St. Bonaventura, ค.ศ. 1221 – 1274) นักบุญโทมัส อาไควนัส (St. Thomas Aquinas, ค.ศ. 1225 – 1274) เป็นต้น ในบทนี้ขอนำเสนอสองท่านที่เด่นที่สุดในปรัชญาตะวันตกยุคกลาง ได้แก่

1) นักบุญออกัสติน (ค.ศ. 354 – 430) : การนำแนวคิดของเปลโต้มาอธิบายคริสต์ศาสนาตามแนวโปลตีนุส
นักบุญออกัสตินนำแนวคิดของเปลโต้และลัทธิเปลโตใหม่ (โดยเฉพาะการนำแนวคิดของเปลโต้มาอธิบายตามแนวทางของโปลตีนุส) มาอธิบายคริสต์ศาสนา (Byrne, 1995: 337) เช่น นำแนวคิดเรื่อง “ทฤษฏีแบบ” มาอธิบายเรื่องพระเจ้า และการสร้างสรรพสิ่งของพระเจ้า

นักบุญออกัสตินเห็นด้วยกับเปลโตที่อธิบายว่าพระเจ้า (โลกแห่งแบบ) เป็นความจริงนิรันดร เป็นหลักพื้นฐานของสรรพสิ่ง เป็นรูปแบบของสิ่งทั้งปวง ท่านอธิบายต่อว่า “พระเจ้าสร้างทุกสิ่งด้วยน้ำพระทัยอิสระ” (Free will) (Stumpf, 1989: 142) จากความไม่มีอยู่ ไปสู่การมีอยู่ แต่พระองค์ไม่ได้สร้างให้เสร็จสมบูรณ์ในทีเดียว เมื่อพระเจ้าทรงสร้างสรรพสิ่ง พระองค์ทรงใส่หลักหรือแบบแห่งการคงความเป็นไปตามประเภทของมัน (Seminal principle) ไว้ในสิ่งนั้นด้วย เพื่อให้สรรพสิ่งสร้างตัวเองต่อไปตามรูปแบบของสิ่งนั้นตามที่พระเจ้ากำหนดไว้ และสรรพสิ่งก็ถ่ายทอดธรรมชาติของตนไปสู่รุ่นต่อ ๆ มา สรรพสิ่งจึงมีลักษณะเฉพาะตามแบบที่พระเจ้ากำหนดไว้ แบบในที่นี้ไม่ใช่เป็นการลอกแบบจากพระเจ้า (โลกแห่งแบบ) ตามแนวเปลโต แต่เป็นลักษณะเฉพาะที่พระเจ้าประทานให้แต่ละสิ่งตามประเภทของมัน

2) นักบุญโทมัส อาไควนัส (ค.ศ. 1225 – 1274) : การนำแนวคิดของอริสโตเติ้ลมาอธิบายคริสต์ศาสนา

สภาพสังคมสมัยที่นักบุญโทมัส อาไควนัสยังมีชีวิตอยู่ เป็นช่วงที่คริสต์ศาสนาเจริญรุ่งเรืองในยุโรป มีการศึกษาเทววิทยาแบบคริสต์ศาสนาอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกัน ปรัชญาของอริสโตเติ้ลก็ได้รับความนิยมในขณะที่ศาสนาอิสลามทำการเผยแผ่อยู่ นักบุญโทมัส อาไควนัสได้มีโอกาสศึกษาต้นฉบับงานเขียนของอริสโตเติ้ล จึงเห็นว่าน่าจะนำปรัชญาของอริสโตเติ้ลมาช่วยอธิบายคริสต์ศาสนาได้ (Byrne, 1995: 337) โดยใช้แนวคิดของเปลโต้และลัทธิเปลโต้ใหม่มาช่วยเสริม ท่านคิดว่าเหตุผลและความเชื่อในคริสต์ศาสนาไม่ขัดแย้งกัน เพราะมาจากแหล่งที่มาเดียวกัน คือ พระเจ้า สิ่งที่ท่านสนใจคือการอธิบายเทววิทยาของคริสต์ศาสนาอาศัยปรัชญา ท่านคิดว่าปรัชญาเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการช่วยอธิบายเทววิทยา จนถึงกับคิดว่าปรัชญามีอยู่เพื่อรับใช้เทววิทยา สิ่งที่ท่านสนใจมากที่สุดในความคิดของท่านคือ “การพยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า มนุษย์ในฐานะชีวิตที่จะต้องปฏิบัติตนให้บรรลุถึงชีวิตพระเจ้า” (กีรติ, 2527: 240) โดยใช้คำสอนคริสต์ศาสนาเป็นหลัก และนำปรัชญาของอริสโตเติ้ลมาช่วยอธิบายและจัดระบบความคิด

2.1) การนำทฤษฏีสสารและรูปแบบของอริสโตเติ้ล มาอธิบายเรื่องการสร้างของพระเจ้า

นักบุญโทมัสดำเนินตามคำสอนคริสต์ศาสนา พระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่งจากความไม่มีอยู่ (Non being) ทุกสิ่งจึงเป็นของพระเจ้าและต้องขึ้นอยู่กับพระเจ้า มนุษย์เป็นสุดยอดของสิ่งสร้างที่เห็นได้ ท่านเห็นด้วยกับอริสโตเติ้ลที่ว่าทุกสิ่งย่อมมีลักษณะที่เหมือนกันและต่างกันโดยอธิบายได้ด้วยความคิดเรื่องสสารและรูปแบบ สิ่งต่าง ๆ ประกอบด้วยสสาร (Matter) และรูปแบบ (Form) “มนุษย์ประกอบด้วยลักษณะที่เป็นสสาร คือร่างกาย และลักษณะที่เป็นรูปแบบ คือวิญญาณ” (Stumpf, 1989: 188) ทั้งสองลักษณะแม้มีความแตกต่างกัน แต่ก็เป็นหนึ่งเดียวกันในมนุษย์ กล่าวคือ มนุษย์มีทั้งลักษณะที่เป็นสสารเหมือนกับสิ่งอื่น ๆ ทั่วไปที่ถูกจำกัดในโลกแห่งผัสสะ แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์มีรูปแบบที่เป็นวิญญาณซึ่งมีศักยภาพที่สามารถก้าวพ้นขอบเขตแห่งโลกผัสสะ เข้าไปสู่การมีส่วนร่วมชีวิตที่สมบูรณ์ของพระเจ้าได้ อาศัยพระกรุณาของพระเจ้าที่โปรดให้มนุษย์เป็นภาพลักษณ์ และมีความเหมือนพระองค์ แต่ในขณะเดียวกันในความเป็นมนุษย์จะตัดร่างกายออกไปไม่ได้ “เพราะธรรมชาติมนุษย์ต้องมีองค์ประกอบที่เป็นกายและวิญญาณ” (Gratsch, 1985: 53) “กายและวิญญาณนี้เป็นหนึ่งเดียวกันโดยไม่ต้องมีอะไรมาเป็นสื่อกลาง” (Clark, 1972: 214) โดย “วิญญาณมีอยู่ในทุกส่วนของร่างกาย” (Gratsch, 1985: 53) ต้องพึ่งพาแก่กันและกัน ถ้าไม่มีวิญญาณ ร่างกายก็จะไม่มีรูปแบบ ไม่มีชีวิตและไม่เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ถ้าไม่มีร่างกาย วิญญาณก็จะไม่มีอวัยวะที่ช่วยนำสู่ความรู้ มนุษย์จึงเป็นวิญญาณและกายที่เป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง



2.2) การพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า

นักบุญโทมัส อาไควนัสนำอภิปรัชญาของอริสโตเติ้ลมาอธิบายพระเจ้า ท่านเริ่มต้นด้วยข้อพิสูจน์ห้าข้อ ซึ่งเริ่มต้นจากการพิจารณาสภาพความเป็นจริงรอบตัวที่พบได้ทั่วไป นำมาเป็นข้อพิสูจน์เพื่อยืนยันการมีอยู่ของพระเจ้า ได้แก่

2.2.1) ข้อพิสูจน์จากการเคลื่อน (สิ่งต่างๆ มีการเคลื่อนที่ หาสาเหตุการเคลื่อนไปเรื่อยๆ ที่สุดผู้เคลื่อนแรก.... คือ พระเจ้า)
2.2.2) ข้อพิสูจน์จากการเป็นสาเหตุ (สิ่งต่างๆ เป็นสาเหตุของอีกสิ่งหนึ่ง เรียงลำดับสาเหตุไปเรื่อยๆ ที่สุดสาเหตุแรก... คือพระเจ้า)
2.2.3) ข้อพิสูจน์จากความบังเอิญ (สิ่งต่างๆ มีทั้งสิ่งที่เป็นความบังเอิญ/มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ และมีทั้งสิ่งที่เป็นเป็นความจำเป็นต้องมี ดังนั้น จึงต้องมีสิ่ง (ภาวะ) ที่เป็นความจำเป็นสูงสุด (ไม่มีไม่ได้) และเป็นหลักการของสรรพสิ่ง... คือพระเจ้า)
2.2.4) ข้อพิสูจน์จากระดับความสมบูรณ์ (สิ่งต่างๆ มีระดับขั้นความสมบูรณ์ต่างกันไป เรียงลำดับขั้นความสมบูรณ์ไปเรื่อยๆ ที่สุดไปสู่ภาวะที่มีความสมบูรณ์สูงสุด... คือพระเจ้า
2.2.5) ข้อพิสูจนจากความเป็นระบบระเบียบในจักรวาล (สิ่งต่างๆ ในจักรวาลมีระบบ ระเบียบ จึงต้องมีผู้วางระบบ ระเบียบ... คือพระเจ้า)

ฉ. สรุปปรัชญาตะวันตกยุคกลาง
ในยุคกลางของยุโรป เป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมกรีก-โรมัน ซึ่งเป็นเหมือนแม่น้ำสายใหญ่ในซีกโลกตะวันตก เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งก็แยกเป็นสามสาย (ยุโรปตะวันตก (เปลโต้ใหม่) ยุโรปตะวันออก (เปลโต้) และอาหรับ (อริสโตเติ้ล) และที่สุด วัฒนธรรมกรีกทั้งสามสาย จะกลับมาบรรจบกันใหม่ในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ

3.2.3 ปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ (ศตวรรษที่ 16 – 18/19)
ก. ความหมาย
ความหมายของปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ พิจารณาได้หลายด้าน ได้แก่

1) ด้านช่วงเวลา ปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ หมายถึง แนวคิดทางปรัชญาที่อยู่ในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 16 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 (ช่วงปลายของปรัชญาตะวันตกยุคกลาง/ปรัชญาอัสสมาจารย์ เป็นต้นมา)

2) ด้านสถานที่ ปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ ส่วนใหญ่แนวคิดด้านปรัชญาที่ได้รับการยอมรับ จะอยู่ในดินแดนแถบยุโรปตะวันตก บริเวณประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมัน

3) ด้านวิธีการ/เนื้อทางปรัชญา เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเป็น “ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ” (Renaissance) คือ การศึกษาและจัดระบบวิชาปรัชญา โดยมีระบบและวิธีการเฉพาะ (ตามแบบวิทยาศาสตร์) มาจัดระบบ และหวนกลับสู่การศึกษาและนำแนวคิดของปรัชญากรีกมาช่วยจัดระบบความรู้ทางปรัชญา นักปรัชญาตะวันตกยุคใหม่พยายามศึกษาและนำแนวคิดทางปรัชญามาจัดระบบการเมือง การปกครอง มีการศึกษาปรัชญาในฐานะศาสตร์ ไม่ใช่ศึกษาปรัชญาเพื่อรับใช้หรืออธิบายศาสนา (คริสต์ศาสนา) เหมือนในช่วงยุคกลางของยุโรป แต่เน้นการหาวิธีการได้มาซึ่งความรู้ตามแบบปรัชญา (ในฐานะเป็นศาสตร์)

ข. สถานการณ์/บริบท
1) เริ่มต้นด้วยยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (พยายามหลุดพ้นจากศาสนา และกลับสู่การศึกษาอารยธรรมกรีก) ประกอบกับ (คริสต์) ศาสนาเป็นระบบแล้ว จึงถึงเวลาที่นักวิชาการด้านปรัชญาจะศึกษาปรัชญาในฐานะเป็นปรัชญา ไม่ใช่ศึกษาปรัชญาในฐานะเป็นเครื่องมือของศาสนา

2) กำเนิด พัฒนาการและการแยกตัวของคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ออกจากปรัชญา โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ มีวิธีการได้ความรู้ที่ให้ผลแน่นอนและเป็นสากล และสามารถนำไปใช้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายขึ้น ผลที่ตามมา คือ ปรัชญาถูกท้าทาย เพราะไม่ได้ให้คำตอบที่ทุกคน (นักปรัชญาทุกคนยอมรับตรงกัน) ในขณะที่คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้ “คำตอบที่เป็นสากล” เช่น 1 + 1 = 2 (จะบวกที่ไหน ใครบวก 1 + 1 ก็ยังคงเป็น “2”) หรือ การค้นพบกฎแรงโน้มถ่วงของไอแซค นิวตัน (จะทดลองที่ไหน ใครทดลอง ผลก็เป็นเช่นนี้ทุกครั้งไป) เป็นต้น ดังนั้น ปรัชญาจึงถูกท้าทายเกี่ยวกับวิธีการได้มาซึ่งความรู้ของปรัชญา (การรู้ความจริงของปรัชญา/ญาณวิทยา)

3) การแบ่งเป็นประเทศ ๆ ของยุโรป จำเป็นต้องหารูปแบบการเมือง การปกครองที่ไม่ต้องพึ่งพิงคริสต์ศาสนา จำเป็นต้องมีการปฏิรูป/ปฏิวัติการเมืองการปกครองเพื่อนำไปใช้ในชีวิตด้านสังคม

ค. ปัญหา/โจทย์ของปรัชญา

จากบริบทของสถานการณ์ในสมัยนั้น (ราวศตวรรษที่ 16) นำสู่ปัญหา/โจทย์ของปรัชญาอย่างน้อยสองประการด้วยกัน ได้แก่

1) ปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ สนใจปัญหาเชิงญาณวิทยา กล่าวคือ การหาอัตลักษณ์ของวิธีการได้มาซึ่งความรู้ของปรัชญา (ญาณวิทยา) ทำอย่างไรจะได้รู้ความจริงที่เป็นสากลตามวิธีการของปรัชญา หรือ วิธีการรู้ความจริงตามแนวปรัชญาในฐานะเป็นศาสตร์ (เหมือนกับที่วิทยาศาสตร์มีวิธีการได้ความรู้ตามแบบศาสตร์)

2) การนำปรัชญามาช่วยจัดระบบสังคม การเมือง การนำแนวคิดเชิงปรัชญามาจัดระบบและวางรากฐานของสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ (บริบทจากสถานการณ์ในสมัยนั้น)

ง. คำตอบ
แบ่งคำตอบ (สาระสำคัญของปรัชญาตะวันตกยุคใหม่) ได้สองประการสำคัญ คือ

1) ให้หลักการหาความรู้ที่ถูกต้อง และแน่นอนของวิธีการได้มาซึ่งความรู้ของวิชาปรัชญา (ในฐานะเป็นศาสตร์) ที่สำคัญมีสามแนว (วิธีการได้มาซึ่งความรู้) คือ

1.1) ความรู้ที่ถูกต้อง ต้องได้มาโดยผ่านทางสติปัญญาของมนุษย์ ด้วยการใช้เหตุผล (เหตุผลนิยม/Rationalism ) เนื่องจากมนุษย์มีคุณลักษณะพิเศษ คือ มีสติปัญญา (Mind, intellect) สามารถใช้เหตุผลเพื่อเข้าใจความจริง เหตุผลสามารถให้ความจริงที่ชัดเจน ชัดแจ้งและเป็นสากล (แบบคณิตศาสตร์) นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ได้แก่ เรอเน เดสการ์ต (Rene Descartes, ค.ศ. 1596 – 1650) บารุค สปิโนซ่า (Baruch Spinoza, ค.ศ. 1632 – 1677) ก๊อตต์ฟริด ไลป์นิกซ์ (Baron Gottfried Wilhelm von Leibniz, ค.ศ. 1646 – 1716) แนวคิดเหตุผลนิยม ใช้วิธีการนิรนัย (Deduction) เป็นหลักในการแสวงหาความรู้

1.2) ความรู้ที่ถูกต้องและเป็นสากล ต้องมีลักษณะเหมือนวิธีการได้มาซึ่งความรู้แบบวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ รู้และตัดสินความจริงจากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส (ประจักษ์นิยม/ประสบการณ์นิยม, Empiricism ) นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon, ค.ศ. 1561 - 1626) โทมัส ฮ็อบส์ (Thomas Hobbes, ค.ศ. 1588 – 1679) จอห์น ล็อค (John Lock, ค.ศ. 1632 – 1704) ยอร์ช เบิร์คเล่ย์ (George Berkley, ค.ศ. 1685 – 1758) เดวิด ฮิวม์ (David Hume, ค.ศ. 1711 – 1776) แนวคิดประสบการณ์นิยม ใช้วิธีการอุปนัย (Induction) เป็นหลักในการแสวงหาความรู้

1.3) ก่อนที่จะได้มาซึ่งความรู้ที่ถูกต้องและเป็นสากล ต้องทำการแยกประเภทของความจริง ความรู้บางอย่างรับรู้ด้วยหลักเหตุผล (ความรู้ก่อนประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส, A priori) ความรู้บางอย่างต้องผ่านประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส (A posteriori) นักปรัชญาที่สำคัญ ได้แก่ อิมมานูลเอล ค้านต์ (Immanuel Kant, ค.ศ. 1724 – 1804)


2) การจัดระบบและพัฒนาการของแนวคิดด้านสังคม การเมือง โดยเฉพาะการส่งเสริมระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อย่างจริงจัง (Democracy) (Jostein, n.y.) เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศแข่งขันกันอย่างเสรี โดยมีกฎหมาย (รัฐ) ทำหน้าที่กระตุ้นการแข่งขันและควบคุมไม่ให้ก้าวก่ายกัน นำสู่การจัดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) หรือเสรีนิยม (Liberalism) ที่เน้นสิทธิมนุษยชนที่ละเมิดไม่ได้ มองมนุษย์ในแง่ดี มนุษย์มีศักยภาพภายในในการบริหารปกครอง จึงควรส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้มนุษย์จัดการ อาศัย “มือที่มองไม่เห็น” นักปรัชญาสำคัญ ได้แก่ จอห์น ล็อค (John Lock, ค.ศ. 1632 – 1704), อาดัม สมิธ (Adam Smith, ค.ศ. 1723 – 1820) เจเรมี เบ็นทัม (Jeremy Bentham, ค.ศ. 1748 – 1832) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การจัดระบบการเมือง การปกครองโดยมีพื้นฐานบนระบอบประชาธิปไตย ก็มีนักปรัชญาบางท่านไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะ โทมัส ฮ็อบส์ (Thomas Hobbes, ค.ศ. 1588 – 1679)

จ. ภาพรวมของปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ (การจัดระบบของปรัชญาในฐานะปรัชญาและการนำแนวคิดทางปรัชญาไปจัดระบบการเมือง การปกครอง)

ปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ เริ่มต้นด้วยการคัดค้านแนวคิดของปรัชญายุคกลาง ที่เน้นหนักในเรื่องศรัทธาในพระเจ้า มุ่งประนีประนอมความเชื่อในคริสต์ศาสนา โดยนำปรัชญาเปลโต้และอริสโตเติ้ลมาอธิบายคำสอนของคริสต์ศาสนา

สิ่งที่นักปรัชญาตะวันตกยุคใหม่สนใจ คือ วิธีหาความจริงของปรัชญา (ญาณวิทยา) ตามแบบตรรกวิทยา และระบบใหม่ทางวิทยาศาสตร์ วิวัฒนาการเริ่มจากยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) โดยเน้นเรื่องวิธีการทางคณิตศาสตร์ (ความแน่นอนในการแสวงหาความจริงของคณิตศาสตร์) อาศัยการใช้เหตุผล (เดสการ์ต, สปิโนซา, ไลป์นิช) และความรู้ใหม่ๆ ที่ได้จากวิทยาศาสตร์ อาศัยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส (ล็อค, เบิร์คเล่ย์, ฮิวม์)

ทั้งแนวคิดเหตุผลนิยมและประสบการณ์นิยม ต่างยืนยันว่าแนวคิดในกลุ่มของตนถูกต้องที่สุด เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นแนวทางการได้มาซึ่งความรู้แบบปรัชญา ประสบการณ์นิยมโจมตีแนวคิดเหตุผลนิยมว่าไม่ได้ให้ความรู้ใหม่ ในขณะที่เหตุผลนิยมยืนยันว่าการได้มาซึ่งความรู้ตามแนวคิดในกลุ่มของตนเป็นวิธีที่จะหาความจริงได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และแน่นอนยิ่งกว่าของฝ่ายประสบการณ์นิยม เพราะคณิตศาสตร์สามารถคำนวณหาความจริงได้ใหม่และล่วงหน้าก่อนกว่าประสบการณ์ โดยเห็นว่าประสบการณ์ให้ความรู้เพียงผิวเผิน ง่อนแง่นไม่สากล ไม่ลึกซึ้ง เพราะประสาทสัมผัสสามารถหลอกลวงเราได้เสมอ แต่วิธีทางคณิตศาสตร์มีระบบ มีเหตุผล เป็นสากลและจำเป็น

ในขณะที่บรรยากาศแห่งการเผชิญหน้าระหว่างแนวคิดเหตุผลนิยมและประสบการณ์นิยมทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงปลายปรัชญาตะวันตกสยุคใหม่ ก็มี อิมมานูเอล ค้านต์ ที่ได้พยายามประนีประนอมปรัชญาทั้งสองสาย โดยชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของวิธีการทั้งสองสาย และประสานปรัชญาทั้งสองเข้าด้วยกันอย่างมีเหตุผล เรารู้ความจริงภายใต้ “กรอบ/แว่นตาที่เราสวมใส่”

ในขณะเดียวกัน บริบทของยุโรปในช่วงนั้น มีการก่อกำเนิดและแยกตัวเป็นประเทศใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีการจัดระบบการเมือง การปกครองและระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีนักปรัชญาบางส่วนตอบปัญหาที่สังคมในยุคสมัยนั้นต้องการ ด้วยการนำเสนอแนวคิดจัดระบบการเมือง การปกครอง โดยเฉพาะแนวคิดและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

ช. สรุปปรัชญาตะวันตกยุคใหม่

ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ เป็นช่วงเวลาแห่งการกลับสู่การพิจารณาปรัชญาในฐานะปรัชญา มีความคิดว่าปรัชญาน่าจะมีคำตอบสากลและชัดเจนเหมือนเช่นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งเป็น “ศาสตร์ยอดนิยม” ในสมัยนั้น นักปรัชญาจึงพยายามวิเคราะห์และให้แนวทางสู่การหา “คำตอบ” ที่เป็นสากลและชัดแจ้งเหมือนศาสตร์ทั้งหลาย (การจัดระบบปรัชญาในฐานะปรัชญา)

ปรัชญายุคใหม่เป็นต้นมา จึงให้ความสำคัญแก่มนุษย์ เน้นปรัชญามนุษย์ในฐานะที่มนุษย์มีศักยภาพที่จะรู้และเข้าถึงความจริงได้

3.2.1 ปรัชญาตะวันตกยุคปัจจุบัน
ก. ความหมาย
ความหมายของปรัชญาตะวันตกยุคปัจจุบัน พิจารณาได้หลายด้าน ได้แก่

1) ด้านเวลา ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา
2) ด้านนักปรัชญา ครอบคลุมตั้งแต่ยุคหลังอิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant) เป็นต้นมา
3) ด้านเนื้อหา/โจทย์ของปรัชญา ได้แก่ การนำแนวคิดทางปรัชญาไปตอบปัญหาเกี่ยวกับคุณค่า ความหมาย หลักการดำเนินชีวิต

ข. บริบท/สถานการณ์
ศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือ (2522: 14) ให้ข้อสังเกตว่าบริบท/สถานการณ์ของปรัชญายุคปัจจุบัน มีลักษณะเป็นช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อแห่งประวัติศาสตร์โลก ทุกอย่างอยู่ในวิกฤติการณ์ มนุษย์มองไม่ออกว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร มนุษย์ถูกท้าทายด้วยวิทยาการที่รุดหน้าจนทำให้มนุษย์สับสนเกี่ยวกับคุณค่า ความหมายชีวิต มนุษย์ต้องการหลักการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ทั้งนี้มีบริบทที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1) ยุคทองของวิทยาศาสตร์ ทั้งภาคทฤษฏีและการประยุกต์ นำสู่การนำไปใช้สร้างเครือข่ายการสื่อสาร ข้อมูล สารสนเทศ รวมทั้งการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของวิทยาการแขนงต่างๆ ที่ใช้ระบบ วิธีการเดียวกับวิทยาศาสตร์ ส่งผลสู่การอำนวยความสะดวกต่อมนุษย์ทุกรูปแบบของการดำเนินชีวิตในสังคม

2) การเสื่อมถอยต่อความศรัทธาในศาสนา ซึ่งเป็นผลมาจากพัฒนาการของวิทยาการแขนงต่างๆ ซึ่งศาสนาปรับตัวตามไม่ทัน แต่ละศาสนาพยายามปรับปรุงคำสอนและแนวปฏิบัติเพื่อแก้วิกฤติดังกล่าว

3) ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม อันเป็นวิกฤติจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ทำให้เกิดช่องว่างของมนุษย์ในสังคม รวมทั้งความพยายามที่จะจัดระบบเศรษฐกิจ การเมือง การปกครองในรูปแบบต่างๆ ยิ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมือง การปกครองและระบบเศรษฐกิจ นำสู่สงครามและความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ/ชนชาติ

4) ความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะแสวงหาคุณค่าและความหมายชีวิต (เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางของความรู้) และการกลับคืนสู่ธรรมชาติ มองธรรมชาติแบบองค์รวม การแสวงหา“อัตลักษณ์” ของมนุษย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

5) มีความพยายามที่จะกำหนดบทบาทและขอบข่ายของแต่ละวิทยาการ เพื่อความสอดคล้องและตรงกับบริบทของวิทยาการตามแขนงของตน รวมทั้งการให้คุณค่าของปรัชญาในฐานะเป็นการตอบปัญหาเรื่อง “คุณค่าและความหมายของชีวิต”

ค. โจทย์/คำถาม
จากตัวอย่างบริบทที่นำเสนอข้างต้น นำสู่โจทย์/คำถาม ได้แก่

1) คุณค่าและความหมายชีวิตคืออะไร ทำอย่างไรจึงจะไปถึงจุดหมายของชีวิต
จะใช้อะไรเป็นหลักเพื่อมุ่งสู่คุณค่าและความหมายชีวิต รวมทั้งการนำปรัชญาเป็นพื้นฐานและประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตท่ามกลางเพื่อนมนุษย์และสภาพแวดล้อม

2) ระบบสังคม การเมือง การปกครองและระบบเศรษฐกิจที่ดี ควรเป็น
อย่างไร เพื่อช่วยมนุษย์สู่การพัฒนาตนเองและสังคมที่เกิดประโยชน์และสอดคล้องกับธรรมชาติมนุษย์ที่สุด

3) คุณค่า ความหมายและอัตลักษณ์ของศาสนาและวิทยากรแขนงต่างๆ คือ
อะไร

ง. คำตอบ
แม้ว่าบริบท/สถานการณ์ นำสู่ปัญหา/โจทย์ของปรัชญายุคปัจจุบันจะมีหลากหลาย แต่กระนั้น แนวคิดของนักปรัชญายุคปัจจุบันที่มุ่งตอบปัญหา/โจทย์ดังกล่าว (ที่อิงกับบริบทของสังคม) ได้เสนอแนวคิดที่เชื่อมโยง ด้วยการวิเคราะห์สังคมส่วนรวม และตัวบุคคล (มนุษย์) โดยแบ่งคำตอบเป็นแนวคิดกว้างๆ ได้แก่

1) แนวคิดที่มีพื้นฐานบนการอธิบายว่าความเป็นจริง มีลักษณะเป็นจิต เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ในสังคม มีความคิดพื้นฐานว่า “จิต” เป็นคุณค่าสูงสุดและคุณลักษณะเฉพาะของมนุษย์ มีแนวคิดว่าความเป็นจริงสูงสุดคือ “จิตวิญญาณ” (บุญมี แท่นแก้ว, 2548: 1) จิต เป็นคุณค่าสูงสุด เป็นจุดกำเนิดและเป้าหมายสุดท้ายของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ สภาพการณ์ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการไปสู่ความเป็นจริงเที่ยงแท้ คือ จิตที่สมบูรณ์ (Absolute Spirit)

แนวคิดที่จัดอยู่ในกลุ่มที่เน้นคุณค่าของจิต ได้แก่ แนวคิดอุดมการนิยม (Idealism) นักปรัชญาสำคัญๆ ได้แก่ โยฮันน์ ฟิกเต (Johann Gottlieb Fichte, ค.ศ. 1762 – 1864) เฟรดริช เชลลิง (Friedrich Wilhelm Joseph von Sheliing, ค.ศ. 1775 – 1854) เฟรดริช เฮเก็ล (George Wilhelm Friedrich Hegel, ค.ศ. 1770 – 1831) แนวคิดเจตจำนงนิยม (Voluntarianism) นักปรัชญาสำคัญๆ ได้แก่ อาร์เธอร์ โชเปนเฮาเวอร์ (Arthur Schopenhauer, ค.ศ. 1788 – 1860) เฟรดริช นิตเช่ (Friedrich Wilhelm Nietzsche, ค.ศ. 1844 – 1900)

2) แนวคิดที่มีพื้นฐานบนการอธิบายว่า ความเป็นจริงมีลักษณะเป็นวัตถุ (สสาร) เพื่อนำมาจัดระบบ ปฏิรูปสังคม การเมืองและระบบเศรษฐกิจ แนวคิดนี้เริ่มต้นด้วยการศึกษา พิจารณา วิเคราะห์ วิจารณ์ความคิดของนักปรัชญา ก่อนหน้า โดยเฉพาะแนวคิดอุดมการณนิยมและเจตจำนงนิยม ตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดของนักปรัชญาทั้งสองกลุ่มข้างต้น มีหลักการและวิธีการที่ดี แต่ยึดติดและเข้าใจผิดว่าความเป็นจริงเป็นจิต (หรือเจตจำนง) จึงนำหลักการและวิธีการมาใช้ แต่เปลี่ยนพื้นฐานที่อธิบายความเป็นจริงใหม่ ด้วยการเสนอว่าพื้นฐานของความเป็นจริงคือ สสารที่พัฒนาตนเป็นสรรพสิ่ง ดังนั้น แนวคิดนี้จึงได้ชื่อว่า แนวคิดสสารนิยมแบบปฏิพัฒนา (Dialectical materialism) นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ ลุดวิค ฟ็อยเออร์บัค (Ludwig Feuerbach, ค.ศ. 1804 – 1872) คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx, ค.ศ. 1818 – 1883) เฟรดริช เองเก็ลส์ (Friedrich Engels, ค.ศ. 1820 – 1895)

นักปรัชญารุ่นต่อๆ ในกลุ่มนี้ ได้พยายามสานต่อ (อธิบายเพิ่มเติม) ตามแนวทางของมาร์กซ์อย่างเคร่งครัด แนวคิดนี้จึงไม่มีนักปรัชญาคนไหนเด่นเท่ามาร์กซ์ มีแต่การนำความคิดของท่านไปตีความ (ประยุกต์ใช้) ในการจัดระบบสังคม การเมือง เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศสหภาพโซเวียต (ในอดีต.. ภายใต้การนำของเลนิน สตาลิน) และประเทศจีน (เหมาเจ๋อตุง)

3) แนวคิดที่เสนอให้จัดระบบปรัชญาอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แนวคิดนี้ได้รับอิทธิจากอิมมานูเอล ค้านท์ว่ามนุษย์ไม่สามารถรู้ความเป็นจริงในตัวเอง จึงควรสนใจศึกษาเฉพาะปรากฎการณ์ของมัน และใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์มาจัดระบบและตัดสินมาตรการความรู้ทางปรัชญา เสนอแนวคิดว่าความเป็นจริงมีเท่าที่รู้และตัดสินได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แนวคิดกลุ่มนี้ได้ชื่อว่า แนวคิดปฏิฐานนิยม (Positivism) และพัฒนาสู่แนวคิดปฏิฐานนิยมใหม่ (Neo-positivism) ได้แก่แนวคิดแนวปฏิฐานนิยมแบบตรรกะ (Logical positivism) และแนววิเคราะห์ภาษา (Language analysis) นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ โอกุส กองต์ (Auguste Comte, ค.ศ. 1798 – 1857) จอห์น สจ๊วต มิล (John Stuart Mill, ค.ศ. 1806 – 1873) ลุกวิก วิตเก็นสไตน์ (Ludwig Wittgenstein, ค.ศ. 1889 – 1951) เป็นต้น

4) แนวคิดที่เสนอให้จัดระบบและหลักการของปรัชญาด้วยการประนีประนอมกับวิทยาการแขนงต่างๆ แนวคิดนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า “สัจนิยมใหม่” (Neo-realism) เกิดจากความต้องการหาหลักยึดเหนี่ยวในการรู้และตัดสินความจริงของปรัชญา ด้วยการประนีประนอมระหว่างวิชาการต่างๆ นำความจริงที่แต่ละสาขาวิชานำเสนอมาเปรียบเทียบและหาหลักการที่เป็นทางสายกลางที่มีหลักฐานสนับสนุนที่หนักแน่นที่สุด โดยมีนักปรัชญาเป็นผู้ประสานงาน นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ จอร์ช มัวร์ (George Edward Moore, ค.ศ. 1873 – 1958) เบอร์ทรันด์ รัสเซ็ลส์ (Bertrand Russell, ค.ศ. 1872 – 1969)

5) แนวคิดที่เสนอให้พิจารณาความจริง ด้วยทฤษฏีวิวัฒนาการ (วิวัฒนาการนิยม, Evolutionism) มีแนวคิดว่าพัฒนาการของสรรพสิ่ง เป็นผลมาจากวิวัฒนาการของสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น สสารก้าวหน้าเป็นชีวิต พืชก้าวหน้าเป็นสัตว์ สัตว์ก้าวหน้าเป็นมนุษย์ (กีรติ บุญเจือ. 2522: 233) นักปรัชญาสำคัญๆ ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Robert Darwin, ค.ศ. 1809 – 1882) เตยารด์ เดอ ชาร์แด็ง (Teilhard de Chardin, ค.ศ. 1885 – 1955)

6) แนวคิดที่เสนอให้เน้นความจริงที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ในชีวิต ด้วยการนำผลดีทางการปฏิบัติ เป็นหลักการของปรัชญา แนวคิดนี้ยึดเอาผลดีทางการปฏิบัติเป็นหลักในการพิจารณาความจริง แนวคิดนี้ได้ชื่อว่า “แนวคิดปฏิบัตินิยม” (Pragmatism) นักปรัชญาสำคัญๆ ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชาร์ลส์ เอส. เพิร์ส (Charles Sanders Peirce, ค.ศ. 1839 – 1914) วิลเลียม เจมส์ (William James, ค.ศ. 1842 – 1910) จอห์น ดิวอี้ (John Dewey, ค.ศ. 1859 – 1952)

7) แนวคิดที่เสนอให้มีการปฎิรูปวิธีการทางปรัชญา อาศัยกระบวนการ (วิธีการ) เชิงปรากฎการณ์ (Phenomenology) ได้แก่แนวคิดที่เสนอให้ปฏิรูประบบและวิธีการทางปรัชญา ด้วยการพิจารณาปรากฎการณ์ (ในฐานะเป็นความเป็นจริง) เสนอให้ปฏิรูปวิธีการทางปรัชญา ด้วยการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบทั้งหมดของความรู้สำนึก และประสบการณ์โดยตรงของผู้ศึกษา ทั้งด้านศาสนา ศีลธรรม สุนทรียศาสตร์ มโนภาพ ประสาทสัมผัส เพราะจุดศูนย์กลางของปรัชญา คือ การศึกษาความจริงของโลกและชีวิตมนุษย์ (Angeles, 1989: 20) นักปรัชญาเด่นๆ ของแนวคิดนี้ ได้แก่ เอ๊ดมุนด์ ฮุสเซิร์ล (Edmund Husserl, ค.ศ. 1859 – 1938)

8) แนวคิดที่เสนอให้เริ่มต้นแนวคิดทางปรัชญาจากพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ ได้แก่ แนวคิดที่เรียกว่า “อัตถิภาวนิยม” (Existentialism) ที่เสนอความคิดให้พิจารณามนุษย์ที่ตัวบุคคล การพิจารณามนุษย์ที่เน้นแต่เพียง “สารัตถะ” (Essence, ความเป็นมนุษย์) ส่งผลให้มีความเข้าใจต่อชีวิตมนุษย์ที่ห่างไกลจากความเป็นจริง ปรัชญาต้องเริ่มต้นจากการพิจารณา “อัตถิภาวะ/การมีอยู่” (Existence) ของแต่ละบุคคล ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมและสภาพที่แต่ละคนได้สะสมไว้ ด้วยการใช้เสรีภาพ ตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ โซเรน เคอร์ดีการ์ต (Soren Kierkegaard, ค.ศ. 1813 – 1855) คาร์ล ยัสเปิร์ส (Karl Jaspers, ค.ศ. 1883 – 1969) ฌอง ปอล ซาร์ต (Jean Paul Sartre, ค.ศ. 1905 - 1980) กาเบรียล มาร์เซ็ล (Gabriel Marcel, ค.ศ. 1889 - 1973) เป็นต้น

9) แนวคิดที่เสนอให้พิจารณาคุณค่า และความหมายชีวิตในฐานะเป็นบุคคล ได้แก่ แนวคิดที่เรียกตนเองว่า “บุคคลนิยม” (Personalism) ซึ่งมีพื้นฐานความคิดจากปรัชญาของนักบุญโทมัส อาไควนัส (ค.ศ. 1225 – 1274) ที่เสนอความคิดว่า มนุษย์มีลักษณะพื้นฐานที่สำคัญสามอย่าง ได้แก่ ความรู้สำนึก เสรีภาพและความสัมพันธ์กับผู้อื่น
ปรัชญาบุคคลนิยมเป็นแนวคิดที่เห็นว่าปรัชญาควรจะเริ่มจากมนุษย์ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ มีน้ำใจเสรีและมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยมองมนุษย์ว่ามีลักษณะสำคัญสามอย่างที่ต้องอยู่ด้วยกัน คือ เอกลักษณ์ของแต่ละคน ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผู้อื่น และสถาบันอันเป็นธรรมของสังคม (เน้นอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคลและความสัมพันธ์กับผู้อื่นแบบความเป็นมิตร ซึ่งทำให้สังคมเป็นหมู่คณะ) นักปรัชญาที่สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ อิมมานูเอล มูเนียร์ (Immanuel Munier, ค.ศ. 1905 - 1950) อิมมานูเอล เลวีนัส (Immanuel Levinas, ค.ศ. 1906 – 1995) แมร์โล ป็องตี (Merleau Ponty, ค.ศ. 1908 – 1961) เป็นต้น

มีข้อสังเกตว่า นักปรัชญากลุ่มบุคคลนิยม เป็นนักปรัชญาที่พิจารณาชีวิตมนุษย์ตรงกลาง ระหว่างแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ (จำกัดเสรีภาพของมนุษย์แบบสุดโต่ง) กับแนวคิดของฌอง ปอล ซาร์ต (ให้ความสำคัญแก่เสรีภาพของมนุษย์แบบสุดโต่ง) โดยเสนอแนวคิดที่พิจารณามนุษย์ในฐานะที่เป็นบุคคลในสังคม มนุษย์มีศักยภาพ หรือพลังภายใน ได้แก่ ความรู้สำนึก เสรีภาพและความสัมพันธ์กับคนอื่น อันเป็นพื้นฐานของชีวิตและการพัฒนาตนเองของมนุษย์ นอกจากนั้น มนุษย์ผู้เป็นบุคคลนี้ ต้องมีความสัมพันธ์กับ “ความเป็นจริงสูงสุด/พระเจ้า” ซึ่งเป็น “บุคคลที่สมบูรณ์” เพื่อมนุษย์จะได้พัฒนาชีวิตของตนสู่การเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์

จ. สรุปปรัชญาตะวันตกยุคปัจจุบัน
ปรัชญายุคปัจจุบัน เน้นการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน และการแก้ปัญหาในสิ่งที่วิทยาศาสตร์และวิทยาการแขนงต่างๆ ที่พัฒนาแบบสุดโต่ง จนขาดความเอาใจใส่ต่อการพิจารณามนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ รวมทั้งการละเลย ขาดความเอาใจต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดวิกฤติและปัญหาทำร้ายมนุษย์ ทำให้มีการตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของปรัชญาในฐานะการตั้งคำถามและการหาคำตอบแก่ชีวิต

4. เปรียบเทียบปรัชญาตะวันตกกับปรัชญาตะวันออก
4.1 คุณลักษณะของปัญหาเรื่องความจริงตามแนวปรัชญาตะวันตกและปรัชญาตะวันออก
แม้ว่าทั้งปรัชญาตะวันตกและตะวันออกจะมีอัตลักษณ์เฉพาะของตน อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องความจริง (Truth) หรือทฤษฏีทางญาณวิทยา เป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่นักปรัชญาตะวันตกและตะวันออกสนใจ เพื่อแยกแยะว่าอะไรเป็นความจริง (The truth) อะไรเป็นความเท็จ (The falsity) ทั้งปรัชญาตะวันตกและตะวันออกต่างยืนยันว่ากระบวนการหาความจริงของมนุษย์มีลักษณะพิเศษที่ต่างจากสัตว์ทั่วไป เนื่องจากมนุษย์มีสติปัญญา ดังนั้น การรู้ความจริงของมนุษย์จึงมีลักษณะเป็นการรู้ตัว (รู้ว่าตนรู้) หรือที่นักปรัชญาตะวันตกมักใช้คำว่า “ความสำนึกรู้” (Consciousness) หรือ “การตระหนักรู้” (Awareness) อันเป็นลักษณะพื้นฐานของกระบวนการรู้ความจริงของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับความจริงของปรัชญาตะวันตกและตะวันออกต่างมีลักษณะเฉพาะที่สอดคล้องกับจุดเน้นของตน กล่าวคือ
4.1.1 คุณลักษณะของทฤษฏีความรู้ตามแนวปรัชญาตะวันตก คือ การรู้ความจริงเพื่อตอบปัญหาที่สงสัย
คุณลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของทฤษฏีความรู้ (ปัญหาเรื่องความจริง) ตามแนวปรัชญาตะวันตก คือ การรู้ความจริงเพื่อตอบสนองความสงสัย ดังที่ สุนทร ณ รังษี (2521: 2) ได้วิเคราะห์ลักษณะของปรัชญาตะวันตกเรื่องการแสวงหาความจริง (ทฤษฏีทางญาณวิทยา) ไว้น่าสนใจว่า “ปรัชญาตะวันตกมุ่งแสวงหาความจริงหรือข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียวโดยไม่พยายามที่จะปฏิบัติตนเพื่อให้เข้าถึงความจริงที่ได้แสวงหาพบแล้ว” และ “ปรัชญาตะวันตกส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับศาสนาหรือแยกเป็นคนละส่วนกับศาสนา” เพราะฉะนั้น นักปรัชญาตะวันตก (ส่วนใหญ่) จึงดำเนินชีวิตไปในทางที่ตรงข้ามกับแนวความคิดทางปรัชญาของตนก็ได้ นั่นหมายความว่าประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความจริงของปรัชญาตะวันตก คือ การมุ่งสู่การรู้ความจริงเพื่อตอบสนองความสงสัยในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริง แม้ว่าความจริงนั้นจะไม่ได้ช่วยให้บรรลุถึงความเป็นจริงเลยก็ตาม หมายความว่า นักปรัชญาตะวันตกมีแนวโน้มในการศึกษาความจริงในประเด็นที่ตนสงสัย เมื่อได้แนวคำตอบที่ถูกใจ (แม้ไม่ถูกใจทั้งหมด) ก็หยุดเพียงแค่นั้น นักปรัชญาตะวันตกไม่พยายามนำแนวคำตอบที่ตนได้รับมาพัฒนาเป็นคำสอนให้ปฏิบัติ เพราะถือว่าศาสนากับปรัชญาเป็นคนละส่วนที่แยกจากกัน
4.1.2 คุณลักษณะของทฤษฏีความรู้ตามแนวปรัชญาตะวันออก คือ การรู้ความจริงเพื่อการบรรลุถึงความเป็นจริง
แม้ว่าลักษณะแนวคิดของปรัชญาตะวันออก (โดยเฉพาะปรัชญาอินเดีย) จะมุ่งปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงและการรู้ความจริง (เกี่ยวกับความเป็นจริง) แต่จุดเน้นของปรัชญาตะวันออกมีลักษณะพิเศษต่างจากปรัชญาตะวันตก กล่าวคือ ปรัชญาตะวันออก (โดยเฉพาะปรัชญาอินเดีย) สนใจปัญหาความเป็นจริง และรู้ความจริง (เกี่ยวกับความเป็นจริง) เพื่อการบรรลุถึงความเป็นจริง ดังที่ สนั่น ไชยานุกูล (2519) ได้วิเคราะห์ปรัชญาอินเดียว่ามีจุดเน้นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมและการพัฒนาจิตใจ “ทุก ๆ ลัทธิถือว่าปรัชญานั้น เป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต และทุก ๆ ลัทธิเพาะปลูกปรัชญาขึ้นมาก็เพื่อให้เราเข้าใจ เราควรจะดำเนินชีวิตของเราให้ดีที่สุดได้อย่างไร” และ “ปรัชญานั้นใช้ให้เป็นประโยชน์แก่คนเราได้อย่างไร” (สนั่น, 2519: 21-22) กล่าวคือ ปรัชญาตะวันออก (โดยเฉพาะปรัชญาอินเดีย) มีลักษณะเป็น “คำสอนให้ปฏิบัติ” ปรัชญาอินเดียไม่ใช่เน้นความรู้อย่างเดียว หากเพื่อส่งเสริมให้รู้เพื่อนำไปปฏิบัติ เน้นหลักปฏิบัติ เพราะจุดหมายสูงสุดของปรัชญา คือ การรู้แจ้งตน (Self - realization) ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าปรัชญาตะวันออก (โดยเฉพาะปรัชญาอินเดีย)มีลักษณะเป็นปรัชญาชีวิตนั่นเอง

4.2 ลักษณะที่เหมือนกัน

4.2.1 เนื้อหา/เป้าหมายของปรัชญา
กล่าวคือ การมุ่งแสวงหาความจริงสูงสุดและพยายามนำเสนอวิถีบรรลุสู่ความจริงอาศัยเหตุผล โดยอาจแบ่งกว้าง ๆ ได้สามแนวความคิด คือ วัตถุนิยม จิตนิยม และการประสานระหว่างแนวคิดทั้งสอง (สัจนิยม) ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในปรัชญาตะวันตกกับปรัชญาอินเดีย (ส่วนปรัชญาจีนไม่ค่อยพูดถึงนัก) นอกจากนั้น ถ้าจะพิจารณาแง่มุมที่เชื่อมโยงปรัชญากับศาสนา เห็นได้ว่ามีการนำเสนอแนวคิดมีลักษณะเป็นปรัชญา (เชิงศาสนา) แบบเทวนิยม (Theism) กับอเทวนิยม (Atheism)

4.2.2 มีพัฒนาการและต่อยอดทางความคิด
โดยนักปรัชญารุ่นใหม่ได้ศึกษาแนวคิดจากนักปรัชญาก่อนหน้า นำมาคิดต่อหรือเสนอความคิดตรงข้าม หรืออาจนำความคิดมาขยายต่อในเรื่องต่าง ๆ ตามบริบทของสังคมแต่ละยุคสมัย

4.3 ลักษณะที่ต่างกัน

4.3.1 ลักษณะที่ต่างกันของปรัชญาตะวันตกกับปรัชญาอินเดีย
ก. ลักษณะทั่วไป และบ่อเกิดความคิด

ปรัชญาอินเดียมีลักษณะเป็นปรัชญาชีวิตมากกว่าปรัชญาตะวันตก คือเน้นรู้เพื่อมุ่งสู่การปฏิบัติ โดยมีจุดหมายเพื่อการรู้แจ้งตน ในขณะที่ ปรัชญาตะวันตก มีลักษณะรู้เพื่อรู้ โดยปรัชญาอินเดียมีลักษณะเป็นปรัชญาเชิงศาสนา บ่อเกิดความคิดทางปรัชญาและศาสนามีบ่อเกิดเดียวกัน ในขณะที่ปรัชญาตะวันตก แยกเด็ดขาดระหว่าง ปรัชญากับ ศาสนา


ข. ทรรศนะต่อโลกและคุณค่า/ความหมายชีวิต

ปรัชญาอินเดีย สอนว่าการเกิดมาในโลกก็เพื่อศึกษาให้บรรลุถึงความจริงแท้ (ไม่หยุดแค่โลก ซึ่งเป็นเพียงมายา) เน้นพัฒนาชีวิตในแบบปฏิเสธชีวิตในโลกนี้และส่งเสริมให้หลุดพ้นจากโลกนี้ (คุณค่าของชีวิตคือการหลุดพ้นจากโลกนี้) ในขณะที่ ปรัชญาตะวันตก มองโลกภายนอกในฐานะเป็นความจริง (มองโลกแง่บวก) จึงพยายามส่งเสริมการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุขในโลกนี้

ค. ทรรศนะต่อธรรมชาติ

ปรัชญาอินเดีย เน้นการดำเนินชีวิตร่วมกับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ ในขณะที่ปรัชญาตะวันตก เน้นพิชิตธรรมชาติ ส่งเสริมให้ปรับปรุงแก้ไขธรรมชาติเพื่อความสุขของมนุษย์และสังคม (ปรัชญาอินเดียไม่ได้มองตัวมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ส่วนปรัชญาตะวันตกมองมนุษย์เป็นศูนย์กลางสรรพสิ่ง)

4.3.2 ลักษณะที่ต่างกันของปรัชญาตะวันตก กับ ปรัชญาจีน
ก. ลักษณะทั่วไป

ปรัชญาจีน เน้นรู้ความจริง เพื่อเป็นเครื่องมือสู่การปฏิบัติ ดังนั้นจึงใกล้ชิดกับจริยศาสตร์ การเมือง วรรณคดีและศิลปะ “เข้าใจวิถีของธรรมชาติ และล่วงรู้ความต้องการของประชาชน” (รู้เพื่อเป็นอุปกรณ์) เน้นรู้ด้านปฏิบัติในชีวิตมากกว่าเป็นวิทยาการ ส่วนปรัชญาตะวันตกเน้นรู้เพื่อรู้ ปรัชญาตะวันตก (โดยเฉพาะปรัชญายุคปัจจุบัน) จึงใกล้ชิดกับวิทยาศาสตร์

ข. วิธีการและทัศนคติต่อการศึกษา

ปรัชญาจีนเน้นความรู้ที่ได้มาโดยทางการหยั่งรู้ (Intuition) เน้นความรู้และความหมายของความรู้ที่ได้จากความเข้าใจที่เกิดขึ้นในจิตใจอย่างฉับพลัน จึงเน้นความสำคัญของการภาวนาและการฝึกฝนอบรมตนเอง จึงสนใจปัญหาที่เป็นรูปธรรม ในขณะที่ปรัชญาตะวันตก เน้นความรู้เชิงทฤษฏี (การอนุมาน) ความคิดจึงมีลักษณะคาดคะเนและเน้นเหตุและผลตามหลักตรรกะ


ค. เนื้อหาสาระของปรัชญา

ปรัชญาจีน เน้นความประสานกลมกลืนสืบเนื่องกัน เน้นความสัมพันธ์ของมนุษย์และศีลธรรม มองมนุษย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล มองทุกสิ่งโดยยึดหลักสภาวะอันกลมกลืนของสรรพสิ่ง ปรัชญาจีนจึงเป็นการผสานของอุดมคติกับความเป็นจริง มีลักษณะเป็นจริยศาสตร์และอภิปรัชญาในตัว ซึ่งส่วนใหญ่สืบเนื่องจากการปะทะกันของระบบปรัชญาสองระบบ คือ ปรัชญาเต๋ากับขงจื้อ จนที่สุดกลายเป็นหลักสมดุล ในขณะที่ปรัชญาตะวันตกเน้นการแบ่งส่วน เน้นความขัดแย้งกันของสิ่งที่แตกต่างกัน ดังนั้นผลที่ตามมา คือ ความคิดจึงแตกแยกออกเป็นหลายส่วน และไม่มีความกลมกลืนกันทางความคิด

5. สรุปประจำบท

กำเนิดและพัฒนาการแนวคิดของปรัชญามีความต่อเนื่อง เป็นพัฒนาการความคิดของมนุษย์ที่พยายามตั้งคำถามและตอบคำตอบตามหลักเหตุผล เพื่ออธิบายปัญหาเรื่องความจริง การรู้ความจริง และมาตรการตัดสินคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ เราเห็นถึงความพยายามของมนุษย์ที่จะใช้สติปัญญามุ่งสู่ความจริง ตามบริบท สถานการณ์หรือประเด็นร้อนในยุคต่าง ๆ ทำให้เราเห็นถึงบทบาทหน้าที่ของปรัชญาในฐานะเป็นการตั้งคำถามและหาคำตอบให้กับสังคมในแต่ละยุค เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าไม่มีสูตรสำเร็จรูปของปรัชญา และปรัชญายังคงเป็นความท้าทายแก่มนุษย์ในการศึกษาค้นคว้า ในฐานะมนุษย์เป็นผู้มีสติปัญญาที่พยายามค้นหาและบรรลุถึงความจริง